หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระบำรุง ปญฺญาพโล(โพธิ์ศรี)
 
เข้าชม : ๑๙๙๙๙ ครั้ง
ปัจจัยที่มีผลต่อการปลูกฝังคุณธรรม และจริยธรรมของนักศึกษา วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร
ชื่อผู้วิจัย : พระบำรุง ปญฺญาพโล(โพธิ์ศรี) ข้อมูลวันที่ : ๑๑/๐๘/๒๐๑๓
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(การบริหารจัดการคณะสงฆ์)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สิน งามประโคน พธ.บ.,M.A.,Ph.D.
  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สิน งามประโคน พธ.บ.,M.A.,Ph.D.
  ดร.นิเวศน์ วงศ์สุวรรณ พธ.บ., M.A., Ph.D.
วันสำเร็จการศึกษา : 2555
 
บทคัดย่อ

 

บทคัดย่อ

 

งานวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ข้อ คือ ๑)  เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการปลูกฝังคุณธรรม และจริยธรรมของนักศึกษาวิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร ๒)  เพื่อเปรียบเทียบปัจจัยที่มีผลต่อการปลูกฝังคุณธรรม และจริยธรรมของนักศึกษาวิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม  โดยจำแนกตามเพศ อายุ ระดับชั้นปีที่เรียน อาชีพของผู้ปกครอง รายได้เฉลี่ยต่อเดือนของผู้ปกครอง และค่าใช้จ่ายต่อเดือนของนักศึกษา ๓)  เพื่อศึกษาแนวทางส่งเสริมปัจจัยที่มีผลต่อการพัฒนาคุณธรรม และจริยธรรมของนักศึกษาวิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม

การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงปริมาณ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบสอบถาม กลุ่มตัวอย่างคือ นักศึกษาวิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม ที่กำลังศึกษาในระดับปริญญาตรี ชั้นปีที่ ๑ - ๓ จำนวน ๒๘๐คน การวิเคราะห์ข้อมูลใช้โปรแกรมสำเร็จรูป สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ ได้แก่ ค่าร้อยละ, ค่าเฉลี่ย, ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน, t-test, F-test และ One-Way ANOVA

ผลของการวิจัยพบว่า  ปัจจัยภายใน

ด้านความเมตตา นักศึกษาวิทยาลัยเทคโนโลยีสยามมีลักษณะเด่นในด้านการเป็นผู้มีความเห็นอกเห็นใจ มีความสงสารเมื่อเห็นเพื่อนประสบกับความทุกข์ยาก และพร้อมที่จะให้อภัยเสมอเมื่อเพื่อน ๆ กระทำไม่ดีต่อตน

ด้านความซื่อสัตย์  นักศึกษามีความซื่อสัตย์ต่อเพื่อนที่ตนคบหาด้วยความจริงใจ และเข้าเรียนสม่ำเสมอถือว่าเป็นความซื่อสัตย์ต่อตนเองที่สำคัญยิ่ง

ด้านความมีวินัย ผลการวิจัยชี้ให้เห็นว่า นักศึกษาเป็นผู้มีระเบียบวินัยสูง ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติตามกฎระเบียบของวิทยาลัย การไม่คุยโทรศัพท์หรือแอบหลับในขณะที่อาจารย์กำลังสอน

ปัจจัยภายนอก นักศึกษามีความคิดเห็นดังนี้

ด้านครอบครัวของนักศึกษา พบว่า นักศึกษาให้ความสำคัญกับครอบครัวที่มีความอบอุ่น มีคนคอยช่วยแก้ปัญหาให้ มีการอยู่พร้อมหน้ากันในครอบครัวเป็นสิ่งที่สำคัญมาก

ด้านสถานศึกษา นักศึกษาเห็นว่าอาจารย์ผู้สอนควรมีการลงโทษเมื่อนักศึกษากระทำผิด ไม่ควรปล่อยปะละเลย

ด้านสภาพแวดล้อมทางสังคม นักศึกษาเห็นว่าชุมชนไม่ได้มีส่วนช่วยเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของนักศึกษาให้เป็นผู้มีคุณธรรม และจริยธรรมที่ดีขึ้น และนักศึกษาชอบเลียนแบบพฤติกรรมของดารา – นักร้อง

ด้านสถาบันศาสนา นักศึกษาเชื่อว่าศาสนามีส่วนช่วยขัดเกลาจิตใจให้ตนเป็นคนดีและมีความสุข นอกจากนี้ยังนำคำสอนมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตไม่ว่าจะในขณะที่มีความสุข หรือมีความทุกข์

เมื่อทำการศึกษาเปรียบเทียบปัจจัยที่มีผลต่อการปลูกฝังคุณธรรม และจริยธรรม ผลการศึกษาพบว่า นักศึกษามีความคิดเห็นที่ไม่แตกต่างกัน

แนวทางส่งเสริมปัจจัยที่มีผลต่อการปลูกฝังคุณธรรม และจริยธรรมแก่นักศึกษา คือ

๑.  สมาชิกในครอบครัวต้องรู้จักรักสามัคคีกัน มีการทานอาหารร่วมกันและมีการพูดคุย ปรึกษาหารือกันอย่างใกล้ชิดในทุกปัญหา

๒.บิดา-มารดา หรือผู้ปกครอง ควรสร้างความสัมพันธ์ที่ดีให้เกิดขึ้นภายในครอบครัวและประพฤติปฏิบัติตนให้เป็นต้นแบบที่ดีแก่บุตรหลาน

๓.  สถานศึกษาควรจัดให้ครู-อาจารย์ นักศึกษา รวมถึงผู้ปกครองของนักศึกษาเป็นเครือข่ายคุณธรรม และมีการร่วมกันทำกิจกรรมอย่างเป็นกัลยาณมิตร

๔.ครู-อาจารย์ ควรประพฤติปฏิบัติตนให้เป็นต้นแบบที่ดีแก่นักศึกษา

๕.สมาชิกในชุมชนต้องมีความรัก  สามัคคีกัน และมีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ  ที่ส่งเสริมคุณธรรมที่นักศึกษาสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมได้

๖.ภาครัฐควรให้การสนับสนุนกิจกรรมและจัดโครงการเข้าค่ายส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมสำหรับนักศึกษา

๗.วัดควรจัดกิจกรรมที่น่าสนใจให้นักศึกษาเข้าไปร่วมกิจกรรมทางศาสนา รวมถึงการสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการปลูกฝังคุณธรรม และจริยธรรม

 

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕