หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระครูปลัดเจริญ ฐิตปุญฺโญ (ยากรณ์)
 
เข้าชม : ๒๐๐๐๙ ครั้ง
การศึกษาชีวิตและงานของพระราชพุทธิญาณ (กุศล คนฺธวโร) (๒๕๔๕)
ชื่อผู้วิจัย : พระครูปลัดเจริญ ฐิตปุญฺโญ (ยากรณ์) ข้อมูลวันที่ : ๒๐/๐๘/๒๐๑๐
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาบุญช่วย สิรินฺธโร
  รศ.ดร.บุณย์ นิลเกษ
  นายบัณฑิต รอดเทียน
วันสำเร็จการศึกษา : ๑๘ เมษายน ๒๕๔๕
 
บทคัดย่อ

     งานวิทยานิพนธ์นี้ มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาชีวิตและผลงานของพระราชพุทธิญาณ ทั้งงานในตำแหน่งหน้าที่ คือ การปกครองคณะสงฆ์ การจัดการศึกษา การเผยแผ่ การสาธารณูปการ การศึกษาสงเคราะห์หรืองานบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคม เช่น การสงเคราะห์และพัฒนาชุมชนตลอดถึงปัญหา อุปสรรค และวิธีการแก้ปัญหา โดยใช้หลักพุทธจริยาเป็นกรอบในการพิจารณา

     การศึกษาเริ่มจากอัตชีวประวัติ และงานที่ท่านปฏิบัติในหน้าที่ คือ งานบำเพ็ญประโยชน์ต่างๆ โดยแบ่งเป็น ๓ ช่วงระยะ วิธีการเก็บข้อมูล เก็บจากวัดและสถานที่ต่างๆ ที่ท่านเข้าไปเกี่ยวข้องในฐานะผู้ปกครองบ้าง ในฐานะผู้เผยแผ่ศาสนาบ้าง ตลอดถึงสัมภาษณ์บุคคลที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับท่านในฐานะต่างๆ เช่น ผู้ใต้บังคับบัญชา ศรัทธาประชาชน ผู้ร่วมงาน และชุมชนที่ได้รับการสงเคราะห์จากท่าน

     ผลการศึกษาพบว่าพระราชพุทธิญาณโดยส่วนตัวท่านเป็นพระภิกษุที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบตามพระธรรมวินัย โดยหน้าที่ท่านได้บริหารงานคณะสงฆ์ คือ ด้านการปกครองคณะสงฆ์นั้นท่านได้ยึดการปกครองตามหลักพระธรรมวินัยและตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ กฎ ระเบียบของมหาเถรสมาคม ขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ ตลอดถึงให้พระสังฆาธิการมีความรู้วิทยาการสมัยใหม่อย่างสม่ำเสมอ ด้านการศึกษาท่านให้การสนับสนุนการศึกษาพระปริยัติธรรมทั้งแผนกบาลีและแผนกธรรมซึ่งเป็นการศึกษาของคณะสงฆ์และสถาบันอื่น ด้านการเผยแผ่ได้เน้นงานอบรมประชาชนประจำตำบล (อ.ป.ต.) งานพระธรรมทูต ศูนย์เผยแผ่ธรรมตามโรงเรียนและทางสถานีวิทยุต่างๆ ด้านการศึกษาสงเคราะห์ได้ส่งเสริมสนับสนุนให้พระสังฆาธิการจัดตั้งศูนย์พระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ ศูนย์เด็กก่อนเกณฑ์ในวัดและจัดตั้งกองทุนส่งเสริมการศึกษาแก่เยาวชน นอกจากนั้นยังส่งเสริมสนับสนุนให้เยาวชนได้ศึกษาธรรมศึกษาอย่างกว้างขวาง ด้านสาธารณูปการได้เน้นการรักษารูปแบบเอกลักษณ์ทางด้านสถาปัตยกรรมแบบล้านนาอย่างจริงจัง และให้ดำเนินการออกแบบขออนุญาตก่อสร้างให้ถูกต้องทำให้สามารถรักษาสถาปัตยกรรมแบบล้านนาได้ ส่วนปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นท่านใช้วิธีแก้ด้วยหลักอริยสัจ คือ ศึกษาปัญหาและแก้ที่สาเหตุของปัญหานั้น

     บทบาทที่พบว่าเป็นจุดเด่นของท่าน คือ งานสงเคราะห์และพัฒนาชุมชน โดยใช้หลักพุทธธรรมผสมผสานไปกับโครงการสงเคราะห์ต่างๆ ซึ่งชุมชนขณะนั้นถูกลัทธิการเมืองที่ไม่ประสงค์ดีต่อชาติและศาสนาแทรกซึม ท่านสามารถใช้กุศโลบายโดยนำพุทธธรรมนำเศรษฐกิจและชี้นำให้ชุมชนกลับมาสู่วิถีชีวิตแบบชาวพุทธเหมือนเดิม ถึงแม้ว่าโครงการต่างๆ ของท่านจะประสบผลสำเร็จบ้างล้มเหลวบ้างก็ได้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของพระสงฆ์ที่ทำหน้าที่เป็นผู้นำของชุมชนได้

     บทบาทหน้าที่ของท่านหากพิจารณาสงเคราะห์ด้วยหลักพุทธจริยาก้จะเห็นว่า ท่านได้ดำเนินตามรอยพระพุทธบาทำได้อย่างน่าภาคภูมิใจบทบาทและผลงานในหน้าที่ที่ท่านได้ปฏิบัติในฐานะพระสงฆ์รูปหนึ่ง และได้บำเพ็ญประโยชน์ต่อชุมชนในฐานะผู้นำทางจิตวิญญาณซึ่งเป็นผลประโยชน์และสันติสุขแก่ชนหมู่มาก บทบาทนี้ถือว่าเป็นโลกัตถจริยา กรณีที่ท่านสงเคราะห์ญาติจัดเป็น ญาตัตถจริยา บทบาทที่บำเพ็ญประโยชน์ในฐานะที่ท่านเป็นพระสงฆ์ ตระหนึกถึงกิจกรรมของพระสงฆ์จะพึงมีต่อชุมชนบทบาทนี้จัดเป็น พทธัตถจริยา พระสงฆ์ที่จะทำงานบริหารการคณะสงฆ์และพัฒนาสงเคราะห์ชุมชนควรถือเอาเป็นแบบอย่างต่อไป

Download : 254517.pdf
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕