หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระครูปลัดชลอ เตชพโล (ปิ่นวิเศษ)
 
เข้าชม : ๑๙๙๙๗ ครั้ง
บทบาทการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระเทพสุวรรณโมลี(สอิ้ง สิรินนฺโท)
ชื่อผู้วิจัย : พระครูปลัดชลอ เตชพโล (ปิ่นวิเศษ) ข้อมูลวันที่ : ๑๐/๐๘/๒๐๑๓
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(การบริหารจัดการคณะสงฆ์)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สุรพล สุยะพรหม, ป.ธ.๔, พ.ม., พธ.ม., M.A., Ph. D. (Pol. Sc.)
  พระมหาบุญเลิศ อินฺทปญฺโญ ผศ., ป.ธ.๗, พธ.บ., ศศ.ม. (พัฒนาสังคม),รป. ม. (การจัดการความขัดแย้ง)
  อาจารย์ ดร. ยุทธนา ปราณีต พธ.บ. (รัฐศาสตร์), ร.บ., M.A. (Politics), Ph.D. (Pol.Sc.)
วันสำเร็จการศึกษา : 2555
 
บทคัดย่อ

 

บทคัดย่อ

               การศึกษาวิจัยเรื่องบทบาทการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระเทพสุวรรณโมลี (สอิ้ง สิรินนฺโท) มีวัตถุประสงค์  ๑) เพื่อศึกษาบทบาทการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระเทพสุวรรณโมลี (สอิ้ง สิรินนฺโท)  ๒) เพื่อศึกษารูปแบบและแนวทางในการเผยแผ่พุทธศาสนาของพระเทพสุวรรณโมลี (สอิ้ง สิรินนฺโท)  ๓) เพื่อศึกษาการประยุกต์ใช้พุทธวิธีในการสื่อสารกับการเผยแผ่พุทธธรรมของพระเทพสุวรรณโมลี (สอิ้ง สิรินนฺโท) เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ (Quantitative Research)  เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือการศึกษาจากข้อมูลจากเอกสารต่างๆ (Documentary Research) และแบบสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง (Structured Interview) ใช้วิธีสัมภาษณ์แบบเจาะลึก (In-depth Interview)

 

ผลการวิจัยพบว่า

               ๑. บทบาทการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระเทพสุวรรณโมลี (สอิ้ง สิรินนฺโท)ท่านเป็นพระเถระที่มีความกตัญญูกตเวที เป็นปูชนียสงฆ์ของชาวจังหวัดสุพรรณบุรี มีคุณสมบัติครบถ้วนของความเป็นนักเผยแผ่ มีความรู้ลึกซึ้งในพุทธธรรม ใช้รูปแบบและแนวทางการสอนให้ประจักษ์มีสัมฤทธิผล ปฏิบัติตนเป็นอย่างดี แนะนำสั่งสอนให้พุทธศาสนิกชน ทำแต่ความดี เว้นจากการทำความชั่ว เผยแผ่พระพุทธศาสนาด้วยความเป็นกัลยาณมิตร

               ๒. พระเทพสุวรรณโมลี (สอิ้ง สิรินนฺโท) นำเสนอพุทธธรรมที่เป็นเรื่องง่ายไม่ไกลตัว ท่านได้อธิบายเนื้อหาสาระธรรม ชัดเจน แจ่มแจ้ง สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ เพราะโดยเนื้อหาพุทธธรรมส่วนใหญ่ท่านจะเน้นเรื่องศีล สมาธิ ปัญญา ทาน ศีล ภาวนา ความกตัญญูกตเวทิตา พร้อมทั้งพระบรมราโชวาททั้ง ๔ ประการ อันเป็นธรรมรากฐานสำคัญของพระพุทธศาสนา เพื่อให้เยาวชน ประชาชนได้นำมาปฏิบัติขัดเกลาจิตใจให้ตั้งมั่นอยู่ในจริยธรรมศีลธรรม อาจกล่าวได้ว่าท่านเป็นพระเถระ ที่ได้แสดงบทบาทเจริญรอยตามพระศาสดาได้อย่างสมบูรณ์ เป็นแบบอย่างแห่งความดี ด้านความกตัญญูกตเวทิตา ที่ได้อุทิศชีวิตตน เพื่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ด้วยความอดทนและเสียสละเพื่อประโยชน์สุขอย่างแท้จริง

               พระธรรมเทศนา บรรยายธรรม ปาฐกถาธรรม บทความที่นำเสนอมีความโดดเด่นด้านการใช้ภาษา การอธิบายกระชับชัดเจนเข้าใจง่าย ได้มีการยกพุทธศาสนสุภาษิต ยกอุทาหรณ์ เล่านิทาน เปรียบเทียบด้วยข้ออุปมาอุปมัย ใช้วิธียกบุคคลเป็นตัวอย่าง ถือว่าเป็นเอกลักษณ์เฉพาะเป็นรูปแบบและแนวทางที่ท่านได้นำมาเผยแผ่พุทธธรรมมากที่สุด

               ๓. พระเทพสุวรรณโมลี (สอิ้ง สิรินนฺโท) ใช้รูปแบบการนำเสนอแบบ ๔ ส. คือ ส. ๑ คือ สันทัสสนา (แจ่มแจ้ง)  ส. ๒ คือ สมาทปนา (จูงใจ)  ส. ๓ คือ สมุตเตชนา (หาญกล้า) ส. ๔ คือ สัมปาหังสนา (ร่าเริง) โดยมีการยกอุทาหรณ์และเล่านิทานประกอบ การเปรียบเทียบด้วยข้ออุปมาอุปมัย ใช้วิธีการแทรกเรื่องทำให้อารมณ์ขัน ใช้ภาษาง่าย เหมาะสมกับผู้ฟัง และในส่วนของความสอดคล้องกับหลักนิเทศศาตร์ คือ มีความกระจ่างชัดของภาษา การใช้ภาษาที่ทำให้ผู้ฟังเกิดจินตภาพ มีความเหมาะสมตามกาล ความเหมาะสมของการใช้ภาษา มีความบริบูรณ์ด้วยเหตุและผล และมีความแจ่มแจ้งชัดเจน ไม่มีอคติ เป็นประโยชน์สูงสุด

               สรุปว่า บทบาทการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระเทพสุวรรณโมลี (สอิ้ง สิรินนฺโท) พระเดชพระคุณมีความโดดเด่นด้าน กาพย์ กลอน โคลง ฉันท์ และทำนองสวดสรภัญญะเพื่อเป็นสิ่งจูงใจในการเผยแผ่หลักธรรมคำสอน และเป็นพระเถระที่มีความเมตตาสูงเป็นกันเอง มีความเป็นอยู่อย่างเรียบง่าย เป็นที่เคารพนับถือของพุทธศาสนิกชนในท้องถิ่นเป็นอย่างยิ่ง เป็นพระนักเทศน์เผยแผ่เชิงรุก ทันเหตุการณ์และมองการณ์ไกล ตลอดถึงเป็นพระนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและตระหนักถึงธรรมชาติ และปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดป่าเลไลยก์วรวิหาร และเจ้าคณะจังหวัดสุพรรณบุรี  ตามมติเถรสมาคมทั้ง ๖ ด้าน คือ ด้านการปกครอง ด้านการศึกษา ด้านการศึกษาสงเคราะห์ ด้านการเผยแผ่ ด้านการสาธารณูปการ และด้านการสาธารณสงเคราะห์ ด้วยปรัชญาชีวิตที่ว่า "อยู่เพื่อตัว อยู่แค่สิ้นลม อยู่เพื่อสังคม อยู่คู่ฟ้าดิน"

 

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕