หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » นายพลกฤษณ์ โชติศิริรัตน์
 
เข้าชม : ๒๐๐๑๔ ครั้ง
การศึกษาเชิงวิเคราะห์การรักษาโรคด้วยวิปัสสนากัมมัฏฐานตามแนวทางของพระธรรมสิงหบุราจารย์ (จรัญ ฐิตธมฺโม) (๒๕๕๔)
ชื่อผู้วิจัย : นายพลกฤษณ์ โชติศิริรัตน์ ข้อมูลวันที่ : ๑๙/๐๗/๒๐๑๒
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระครูภาวนาโพธิคุณ, ดร.
  ผศ.ดร.โสวิทย์ บำรุงภักดิ์
  -
วันสำเร็จการศึกษา : 2554
 
บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์เล่มนี้ เป็นการวิจัยเชิงเอกสาร ผู้วิจัยมุ่งศึกษาเชิงวิเคราะห์การรักษาโรคด้วยวิปัสสนากัมมัฏฐานตามแนวทางของพระธรรมสิงหบุราจารย์ (จรัญ ฐิตธมฺโม) โดยมีจุดประสงค์เพื่อศึกษาวิธีการรักษาโรคในคัมภีร์พระไตรปิฎก และวิธีการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานในมหาสติ     ปัฏฐานสูตร ศึกษาผลงานด้านวิปัสสนากัมมัฏฐานของพระธรรมสิงหบุราจารย์ (จรัญ ฐิตธมฺโม) ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาโรค และศึกษาผลทางวิทยาศาสตร์ในการรักษาโรคด้วยการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน

ผลการศึกษาวิจัยพบว่า “โรค” มีความหมายตามคัมภีร์พระไตรปิฎกว่า “ความเสียดแทง” โดยมีสมุฏฐานในการเกิดโรค ๘ สมุฏฐาน ประกอบด้วยธาตุสมุฏฐาน อุตุสมุฏฐาน อายุสมุฏฐาน       สัตวสมุฏฐาน วิธีสมุฏฐาน อาหารสมุฏฐาน จิตสมุฏฐาน และกรรมสมุฏฐาน นับเป็นพื้นฐานในการวิเคราะห์สาเหตุในการเกิดโรคในปัจจุบัน ทำให้สามารถรักษาโรคได้อย่างถูกต้อง

วิธีการรักษาโรคในคัมภีร์พระไตรปิฎก แบ่งออกเป็น ๔ วิธีการ ได้แก่ การรักษาโรคด้วยสมุนไพร ทั้งจากพืช สัตว์ และแร่ธาตุ, การรักษาโรคด้วยเทคนิค ประกอบด้วยการดัดกาย การนวด การปล่อยอสุจิ การนัตถุ์ยา การทายา และการผ่าตัด, การรักษาโรคด้วยการเจริญพระพุทธมนต์ และการรักษาโรคด้วยการบำเพ็ญเพียรทางจิต

มหาสติปัฏฐานสูตร เป็นวิธีการบำเพ็ญเพียรทางจิต เป็นการฝึกเจริญสติพิจารณาให้รู้เท่าทันและรู้แจ้งในทุกข์ เมื่อเจริญสติได้ถึงพร้อม จะเกิดปัญญาในการพิจารณาเห็นความจริง จนเกิดความเข้าใจและยอมรับในสภาวะที่ตนเป็นอยู่ เกิดการปล่อยวาง ไม่ยึดติดในความรู้สึกที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดความสงบสุขทั้งทางร่างกายและจิตใจ ส่งผลถึงสุขภาพของร่างกาย

เมื่อทำการศึกษาผลทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ของผู้ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน ตามแนว ทางของพระธรรมสิงหบุราจารย์ ซึ่งเป็นไปตามหลักมหาสติปัฏฐานสูตรนั้น มีผลลดอัตราการเต้นของหัวใจและความดันโลหิต ช่วยเพิ่มการไหลเวียนเลือดไปยังอวัยวะต่าง ๆ สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ ช่วยเพิ่มปริมาณออกซิเจนในร่างกาย มีผลทำให้ความเครียดลดลง และช่วยเพิ่มระดับภูมิต้านทานของร่างกาย ทำให้มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการร่วมรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน และโรคทางจิตเภท นอกจากนี้ยังมีผลปรับเปลี่ยนทัศนคติของผู้ป่วย ทำให้มีสติและปัญญาพิจารณาในโรคที่ตนเป็นอยู่ เกิดการยอมรับและเข้าใจจนเกิดความสงบ มีความรู้สึกเป็นสุขภายในจิตใจ เป็นผลให้คุณภาพชีวิตผู้ป่วยดีขึ้นได้

Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕