หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » นายอัมรินทร์ สุขสมัย
 
เข้าชม : ๑๙๙๙๗ ครั้ง
การศึกษาอิทธิพลและคุณค่าของความเชื่อเรื่องคาถาที่มีต่อสังคมชาวพุทธไทย(๒๕๕๔)
ชื่อผู้วิจัย : นายอัมรินทร์ สุขสมัย ข้อมูลวันที่ : ๑๖/๐๗/๒๐๑๒
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหากฤษณะ ตรุโณ , ผศ, ดร.
  ดร.แม่ชีกฤษณา รักษาโฉม
  ว่าง
วันสำเร็จการศึกษา : 2554
 
บทคัดย่อ

 

การศึกษาอิทธิพลและคุณค่าของลัทธิความเชื่อเรื่องคาถาที่มีต่อสังคมชาวพุทธไทยนี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการคือ  (๑)  เพื่อศึกษาแนวคิดเรื่องคาถาในพระพุทธศาสนา  (๒) เพื่อศึกษาความเชื่อเรื่องคาถาที่มีต่อสังคมไทย  (๓) เพื่อศึกษาอิทธิพลและคุณค่าของความเชื่อเรื่องคาถาที่มีต่อสังคมไทย

  

ผลการวิจัย พบว่า ความหมายของคาถาอาคมนั้นมีผู้ให้คำจำกัดความมากมาย เช่น เป็นคำนาม หมายถึง คำประพันธ์ประเภทร้อยกรองในภาษาบาลี, อัตราของฉันท์ คือ ๔ บาท เรียกว่า คาถาหนึ่ง”

คำว่า เวทมนตร์ ชื่อหมวดแห่งพุทธวจนะรวมอยู่ในพระไตรปิฎก เช่น เถรคาถา, เถรีคาถา, กำหนดบทร้อยกรอง ๔ บาท เป็น ๑ คาถา เช่น อเสวนา จ พาลานํ/ปณฺฑิตานญฺจ เสวนา/ปูชา จ ปูชนียานํ/เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ”

                      คติความเชื่อเรื่องคาถานั้นมีความเชื่อในการสวดมนตร์ที่แตกต่างกันไปตามแต่ละจุดประสงค์ของแต่ละบุคคลหรือแต่ละกลุ่มความเชื่อ เช่น ๑. สวดเพื่อ สรรเสริญ พระรัตนตรัย ในภาษามคธ เรียกว่า “ปณาม” ๒. สวดเพื่อ ระลึกถึง พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ ในภาษามคธ เรียกว่า “สรณะ” ๓. สวดเพื่อ แสดงความนอบน้อม คำสวดหากแปลโดยความหมายจะหมายถึงการนอบน้อม สักการบูชา เช่น บทที่ขึ้นต้นด้วย นะโม, นมัสการ ๔. สวดเพื่อ ศึกษาพระธรรมคำสอนที่มีอยู่ในพระไตรปิฎก เช่น พระภิกษุสวดคำสอนในพระคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา หรือสวดปาฏิโมกข์ เพื่อทบทวนศีลในพระธรรมวินัย ๕. สวดเพื่อ ความสงบในจิตใจ การสวดเพื่อจุดมุ่งหมายวิธีนี้เพื่อขจัดความสับสน ว้าวุ่น ที่เกิดขึ้นในจิตใจ ให้เกิดความสงบ เป็นสมาธิมากขึ้น ๖. สวดเพื่อ อาราธนา การสวดวิธีนี้เป็นการสร้างศรัทธา ความเชื่อ ความมั่นใจให้แก่ผู้สวดภาวนา เช่น การสวดเพื่ออัญเชิญให้พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณมาคุ้มครองป้องกันสรรพภัยอันตราย  ดังนั้นการสวดมนตร์ คาถา โดยทั่วไปจึงไม่ได้หมายถึง ถ้อยคำที่ขลังศักดิ์สิทธิ์เพื่อหวังผลทางศรัทธา หรือเพื่อให้เกิดผลตามที่มุ่งหมายด้วยอานุภาพของมนตร์คาถาเพียงอย่างเดียว  แต่ยังหมายรวมถึงทุกวัตถุประสงค์ตามที่แต่ละบุคคลจะน้อมนำไปเป็นแนวทางปฏิบัติ ซึ่งในพระพุทธศาสนาเน้นในเรื่องการใช้ปัญญาพิจารณาเหตุผลมากกว่า

                      นอกจากนี้ความเชื่อเรื่องคาถาอาคมนั้นยังเป็นการนำเอาคติความเชื่อทางศาสนาทั้งสองคือ ศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธมาเป็นรากฐานในคติความเชื่อนั้น และประพฤติปฏิบัติจนกลายเป็นประเพณี ความเชื่อที่หล่อหลอมสังคมมาจนถึงปัจจุบัน ความเชื่อเรื่องคาถาอาคมนี้สอดแทรกเข้าสู่สังคมไปทุกระดับและบริบทของสังคม แม้ว่าการแต่งวรรณกรรมก็มักนิยมนำความเชื่อเรื่องคาถาอาคมเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย เช่น เสภาขุนช้างขุนแผน พระอภัยมณี อิเหนา เป็นต้น

                ดังนั้นด้วยเหตุที่ว่าความเชื่อเรื่องคาถาอาคมแตกแขนงออกมาจากศาสนาจะด้วยความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม ฉะนั้นความเชื่อเรื่องคาถาอาคมจึงมีพื้นฐานอันดีงามของพระพุทธศาสนาอยู่บ้าง จึงเป็นการง่ายที่จะดึงให้คนเหล่านั้นเข้าสู่หลักการทางพระพุทธศาสนาได้โดยใช้กลวิธีการสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ตรัสถึง เทศนา ๔ วิธี และด้วยเหตุนี้จึงต้องยกอ้างเอาหลักธรรมในพระพุทธศาสนามาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวในความเชื่อนั้นๆ เพื่อประคับประคองความเชื่อให้อยู่ในวิถีทางที่ถูกต้องตรงตามความเป็นจริงให้มากที่สุด

Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕