หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระบวร กตปุญฺโญ (พงษ์ชาติ)
 
เข้าชม : ๑๙๙๘๒ ครั้ง
การศึกษาเปรียบเทียบทัศนะเรื่องอนัตตาในพุทธปรัชญาเถรวาทกับแนวคิดของฌอง-ปอล ซาร์ตร์ (๒๕๕๓)
ชื่อผู้วิจัย : พระบวร กตปุญฺโญ (พงษ์ชาติ) ข้อมูลวันที่ : ๒๘/๑๑/๒๐๑๑
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(ปรัชญา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาณรงค์ กนฺตสีโล, ผศ.ดร.
  พระใบฎีกาเสน่ห์ ญาณเมธี, ดร.
  นายบัณฑิต รอดเทียน
วันสำเร็จการศึกษา : 2553
 
บทคัดย่อ

การศึกษาเปรียบเทียบทัศนะเรื่องอนัตตาในพุทธปรัชญาเถรวาทกับแนวคิดของ ฌอง-ปอล  ซาร์ตร์ โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อศึกษาหลักอนัตตาในพุทธปรัชญาเถรวาทกับแนวคิดของฌอง-ปอล  ซาร์ตร์  และเพื่อศึกษาเปรียบเทียบความเหมือนและความแตกต่างกันเกี่ยวกับแนวคิดหลักอนัตตาของทั้งสองทัศนะ  ในการศึกษาวิจัยครั้งนี้  ผู้วิจัยมุ่งศึกษาข้อมูลจากเอกสารและงานวิจัยชั้นปฐมภูมิและทุติยภูมิที่เกี่ยวข้องกับเรื่องหลักอนัตตาในทัศนะของพุทธปรัชญาเถรวาทและแนวคิดของฌอง-ปอล  ซาร์ตร์  ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษเป็นสำคัญ

              ผลการวิจัยพบว่า  หลักอนัตตาในความหมายของซาร์ตร์และพุทธปรัชญาเถรวาทนั้น  มีนัยที่ค่อนข้างจะสอดคล้องกัน  สิ่งต่างๆ  ที่มีอยู่ในโลก  รวมทั้งจิตของมนุษย์ล้วนมีสภาวะแห่งความเป็นอนัตตาเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุด  เพราะการที่จิตคิดปรุงแต่งสิ่งต่างๆ  จึงทำให้เราไม่สามารถที่จะมองเห็นสภาวะแห่งความเป็นอนัตตาได้  เป็นเหตุให้เราหลงผิดคิดไปว่าความเป็นอนัตตานั้นเป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่ในโลก  ความเป็นอนัตตานั้นเป็นเพียงแค่ความคิดหนึ่งซึ่งมนุษย์สร้างขึ้นมา  แต่แท้ที่จริงแล้วมนุษย์มิได้มีความหมายอะไรเลย  คล้ายคลึงกับพุทธปรัชญาเถรวาทที่ว่า  สิ่งต่างๆ  ในโลก  ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่มีชีวิตหรือไม่มีชีวิต  มีสภาพที่ว่างจากตัวตนและสิ่งที่เนื่องด้วยตนทั้งสิ้น  แต่การที่จิตมนุษย์ถูกอวิชชาคือความไม่รู้แจ้งเห็นจริงในกฎแห่งไตรลักษณ์ครอบงำ  จึงทำให้มนุษย์พากันยึดมั่นถือมั่นสิ่งต่างๆ  ว่ามีอัตตาที่จะสามารถยึดครองได้

              ประเด็นที่แตกต่างก็คือว่า  ท่าทีของซาร์ตร์กับพุทธปรัชญาเถรวาทที่เกี่ยวกับความหมายของหลักอนัตตานั้น  ดูประหนึ่งว่ามิได้แตกต่างกัน  แต่หากศึกษาลึกลงไปในรายละเอียดแล้วจะพบว่า  ทัศนะดังกล่าวนั้น  แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง  ซาร์ตร์พยายามที่ใช้ทฤษฎีอนัตตาที่ตัวเองได้นำเสนอขึ้นมานั้น  เป็นแรงสนับสนุนหลักการแห่งเสรีภาพ  เสรีภาพที่พ้นจากการแทรกแซง  การบังคับ  หรือการใช้อำนาจทางอ้อม  รวมไปถึงกระบวนการในการเลือกที่กระทำตามดำริของตนเองอย่างเสรี  นอกจากนั้นซาร์ตร์ยังใช้ทฤษฎีอนัตตาปฏิเสธระบบปรัชญาที่มองเห็นว่ามีอัตตาเป็นศูนย์กลาง  ในการปฏิเสธอัตตาของซาร์ตร์นั้น  เขามุ่งเน้นให้มนุษย์เสาะแสวงหาสิ่งต่างๆ  เพื่อเติมความเป็นมนุษย์ให้เต็ม  โดยมองเห็นว่าหากพยายามเติมสิ่งต่างๆ  ลงไปในตัวมนุษย์มากเท่าใดจะทำให้ความเป็นมนุษย์มีค่ามากขึ้นเท่านั้น  ผลก็คือมนุษย์ต้องประสบความทุกข์  อันเกิดจากการที่มนุษย์จะต้องหลอกตัวเอง  และแปลกแยกกับความรู้สึกของตัวเอง  เพราะสิ่งที่เสาะแสวงหานั้น  มิใช่ความสุขที่แท้จริง  ทั้งๆ ที่ซาร์ตร์ก็รู้ว่า  วิธีการเหล่านั้นมิใช่ทางแห่งความสุขที่แท้จริง  แต่เขาก็มิได้นำเสนอวิธีปฏิบัติ  เพื่อที่จะละอัตตา  หรือหยุดการแสวงหาสิ่งภายนอกโดยหันมาแสวงหาความสุขภายใน

              พุทธปรัชญาเถรวาทนั้น  มุ่งเน้นให้มนุษย์แสวงหาความสุขภายใน  แสวงหาความอิสระของจิตใจมากกว่าที่จะไปมุ่งเน้นให้ความสำคัญต่อสิ่งภายนอก  หรือความอิสระภายนอก  เพราะความสุขอันเกิดจากการยึดมั่นถือมั่นในสิ่งภายนอกนั้น  แท้ที่จริงแล้วมันมิใช่ความสุขที่เที่ยงแท้ถาวร  ความสุขที่แท้จริงก็คือความสุขอันเกิดจากการที่มนุษย์มีสภาพจิตใจที่เป็นอิสระทั้งภายนอกและภายใน  ไม่ตกเป็นทาสของอวิชชา  ตัณหา  อุปาทานต่างๆ ที่เกาะเกี่ยวพันธนาการมนุษย์เอาไว้

download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕