หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระครูใบฎีกาอภิชาติ ธมฺมสุทฺโธ (พรสุทธิชัยพงศ์)
 
เข้าชม : ๒๐๐๐๐ ครั้ง
ประสิทธิภาพการบริหารงานของเจ้าอาวาสในจังหวัดนนทบุรี (๒๕๕๓)
ชื่อผู้วิจัย : พระครูใบฎีกาอภิชาติ ธมฺมสุทฺโธ (พรสุทธิชัยพงศ์) ข้อมูลวันที่ : ๒๒/๑๑/๒๐๑๑
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(การบริหารจัดการคณะสงฆ์)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
 
 
 
วันสำเร็จการศึกษา : 2553
 
บทคัดย่อ

การวิจัยฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ ๑) เพื่อศึกษาประสิทธิภาพการบริหารงานของเจ้าอาวาสในจังหวัดนนทบุรี ตามทัศนะของพระภิกษุ สามเณรในสังกัด ๒) เพื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพการบริหารงานของเจ้าอาวาสในจังหวัดนนทบุรี ตามทัศนะของพระภิกษุ สามเณรในสังกัด โดยจำแนกตามสถานภาพส่วนบุคคล และ ๓) เพื่อศึกษาปัญหาและแนวทางในการบริหารงานที่มีประสิทธิภาพของเจ้าอาวาสในจังหวัดนนทบุรี ศึกษาวิจัยโดยใช้การวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research)

กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ พระภิกษุ สามเณรสังกัดคณะสงฆ์มหานิกายในจังหวัดนนทบุรี จำนวน ๓๕๒ รูป ซึ่งใช้การสุ่มตัวอย่างแบบง่าย (Simple Random Sampling) เครื่องมือที่ใช้เป็นแบบสอบถาม มีลักษณะเป็นแบบตรวจสอบรายการและมาตราส่วนประเมินค่า ๕ ระดับ และแบบสอบถามปลายเปิด ซึ่งผู้ศึกษาสร้างขึ้นเอง โดยมีค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ .๙๒๙ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูปเพื่อการวิจัยทางสังคมศาสตร์ สถิติที่ใช้ได้แก่ ค่าความถี่ (Frequency) ค่าร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) และเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยความคิดเห็นโดยใช้ค่าที (t-test) เพื่อทดสอบความแตกต่างระหว่างค่าเฉลี่ยสองกลุ่ม และการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One Way ANOVA) เพื่อเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างค่าเฉลี่ยตั้งแต่สามกลุ่มขึ้นไปและเปรียบเทียบความแตกต่างรายคู่ด้วยวิธีผลต่างนัยสำคัญน้อยที่สุด (Least Significant Difference: LSD) โดยกำหนดนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .๐๕

ผลการศึกษาพบว่า

ประสิทธิภาพในการบริหารงานของเจ้าอาวาสในจังหวัดนนทบุรี พบว่า พระภิกษุและสามเณร มีทัศนะต่อประสิทธิภาพในการบริหารงานของเจ้าอาวาสในจังหวัดนนทบุรี โดยรวมอยู่ในระดับมาก  ซึ่งมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ ๓.๗๓ และเมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า พระภิกษุและสามเณร มีทัศนะต่อประสิทธิภาพในการบริหารงานของเจ้าอาวาสในจังหวัดนนทบุรี  อยู่ในระดับมากทุกด้าน โดยมีค่าเฉลี่ยจากมากไปหาน้อย คือ ด้านการศึกษา อบรมและสั่งสอนเท่ากับ ๓.๙๕ ด้านการบำรุงรักษาวัด จัดกิจการและศาสนสมบัติเท่ากับ ๓.๗๘ ด้านการให้ความสะดวกในการบำเพ็ญกุศลเท่ากับ ๓.๖๑ และด้านการบริหารและการปกครองเท่ากับ ๓.๕๖ ตามลำดับ

การเปรียบเทียบทัศนะของพระภิกษุและสามเณรต่อประสิทธิภาพการบริหารงานของเจ้าอาวาสในจังหวัดนนทบุรี จำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล พบว่า พระภิกษุและสามเณร มีทัศนะต่อประสิทธิภาพการบริหารงานของเจ้าอาวาสไม่แตกต่างกันตาม สถานภาพ อายุ  พรรษา วุฒิการศึกษานักธรรม วุฒิการศึกษาเปรียญธรรมและวุฒิการศึกษาสามัญ จึงปฏิเสธสมมติฐานที่ตั้งไว้

ผลการศึกษาปัญหาและแนวทางในการบริหารงานของเจ้าอาวาส พบว่า ปัญหาและแนวทางในการบริหารงานของเจ้าอาวาส ได้แก่ ๑) ด้านการบำรุงรักษาวัด จัดกิจการและศาสนสมบัติ วัดในจังหวัดนนทบุรีส่วนใหญ่ไม่มีการจัดทำทะเบียนครุภัณฑ์  ปัญหาเรื่องความสะอาดภายในวัด หรือบริเวณรอบนอกของวัด และ บางวัดมีโบราณสถานโบราณวัตถุที่มีสภาพทรุดโทรม ๒) ด้านการบริหารและการปกครอง ระยะเวลาในการประชุมแต่ละครั้งห่างกันนานเกินไป และบางวัดมีการรวมศูนย์กลางการปกครองไปที่เจ้าอาวาสเพียงผู้เดียว ทำให้ในบางครั้งการดูแลอาจไม่ทั่วถึงเท่าที่ควร ๓) ด้านการศึกษา อบรมและสั่งสอน ผู้ที่จะทำหน้าที่ในการอบรมพระภิกษุ และสามเณร มีไม่เพียงพอ และไม่มีการอบรมครูพระ ทำให้เกิดการขาดแคลนครูพระที่จะทำหน้าที่ในการสอนหนังสือทั้งในแผนกบาลีและแผนกธรรม ๔) ด้านการให้ความสะดวกในการบำเพ็ญกุศล การติดต่อบางครั้งไม่สะดวก การจัดกิจนิมนต์ไม่ทั่วถึง  พิธีกรหรือมัคคทายก บางวัดยังทำหน้าที่ได้ไม่สมบูรณ์และไม่ถูกต้องตามรูปแบบประเพณี และสถานที่จอดรถภายในวัดคับแคบจนเกินไปทำให้ญาติโยมที่มาติดต่อหรือมาทำบุญที่วัดเกิดความไม่สะดวก

แนวทางในการแก้ไขปัญหาในด้านต่างๆ ได้แก่ ๑) ด้านการบำรุงรักษาวัด จัดกิจการและศาสนสมบัติ การสรรงบประมาณบางส่วนเพื่อใช้ในการจัดทำทะเบียนครุภัณฑ์ การจัดให้มีการทำความสะอาดและปรับทัศนียภาพภายในและรอบนอกบริเวณวัดให้มีความสวยงาม ร่มรื่น ตลอดจนการซ่อมแซมโบราณสถานและโบราณวัตถุ ๒) ด้านการบริหารและการปกครอง  ควรมีการจัดประชุมอย่างน้อยเดือนละครั้ง  และควรมีการกระจายอำนาจการปกครองออกไปยังผู้ที่มีส่วนร่วมในการบริหารและการปกครอง ๓) ด้านการศึกษา อบรมและสั่งสอน ควรส่งเสริมให้มีการจัดการเรียนการสอนนักธรรมภายในวัด และควรสนับสนุนให้ผู้ที่มีความรู้ความสามารถขึ้นมาเป็นครูสอนนักธรรม และควรจัดให้มีการอบรมครูพระทุก เดือน ๔) ด้านการให้ความสะดวกในการบำเพ็ญกุศล ควรมีการจัดตั้งหน่วยงานหรือสำนักงานและจัดให้มีผู้รับผิดชอบ  ควรมีการจัดอบรมพิธีกร หรือมัคคทายกขึ้นในจังหวัดเพื่อให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างถูกต้องและเป็นรูปแบบเดียวกัน และควรจัดให้มีสถานที่จอดรถอย่างเพียงพอเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ญาติโยมที่มาทำบุญหรือติดต่อในการบำเพ็ญกุศลต่างๆ

download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕