หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » นางเสาวนีย์ พงศกรเสถียร
 
เข้าชม : ๑๙๙๘๖ ครั้ง
การศึกษาวิเคราะห์แนวคิดเรื่องญาณวิทยาในธัมมปทัฏฐกถา(๒๕๕๓)
ชื่อผู้วิจัย : นางเสาวนีย์ พงศกรเสถียร ข้อมูลวันที่ : ๒๙/๐๙/๒๐๑๑
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(ปรัชญา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหากฤษณะ ตรุโณ,ผศ.,ดร.
  ดร. แสวง นิลนามะ
  พระมหาบุญเลิศ ธมฺมทสฺสี
วันสำเร็จการศึกษา : 2553
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

การศึกษาวิเคราะห์แนวคิดเรื่องญาณวิทยาในธัมมปทัฏฐกถามีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ เพื่อศึกษาวิเคราะห์แนวคิดเรื่องญาณวิทยาตามหลักพุทธปรัชญาเถรวาท  แนวคิดเรื่องญาณวิทยาในธัมมปทัฏฐกถา และเพื่อนำเสนอญาณวิทยาในธัมมปทัฏฐกถาเป็นแนวทางในการแสวงหาความรู้ โดยผู้วิจัยทำการศึกษาวิเคราะห์จากเอกสาร

ผลจากการวิจัยพบว่า แนวคิดเรื่องญาณวิทยาตามหลักพุทธปรัชญาเถรวาท คือความรอบรู้ในสมมติสัจคือความรู้ที่อิงอาศัยโลก และความรอบรู้ในปรมัตถสัจคือความรู้ที่พ้นจากการอิงอาศัยโลกตามแนวทางของลัทธิหีนยานหรือทักษิณนิกายโดยยึดหลักของเหตุและผลเป็นสำคัญ เมื่อเปรียบเทียบความหมายของญาณวิทยาตะวันตกที่ให้ความหมายว่า เป็นปรัชญาสาขาหนึ่งที่ว่าด้วยบ่อเกิด ลักษณะ หน้าที่ ประเภท ระเบียบวิธี และความสมเหตุสมผลของความรู้ บางทีเรียกว่า ทฤษฎีความรู้ ซึ่งถือว่า เป็นหัวใจในการแสวงหาความรู้ ญาณวิทยาในตะวันตกมีความสำคัญตรงที่เป็นพื้นฐานในการเก็งความจริง  และมีบ่อเกิดของความรู้ ธรรมชาติของความรู้ ความสมเหตุสมผลของความรู้ และเกณฑ์ที่ใช้ตัดสินความรู้ ญาณวิทยาตามหลักพุทธปรัชญาเถรวาทมีแนวคิดมาจากการตรัสรู้ความจริงของพระพุทธเจ้า แล้วพระองค์ก็นำเอาความรู้จริงนั้นมาประกาศแก่ชาวโลก แบ่งเป็น ๒ ระดับคือ ความรู้ระดับโลกียะ และความรู้ระดับโลกุตตระ ซึ่งมีบ่อเกิดหรือแหล่งความรู้อยู่ ๓ ทาง ได้แก่ สุตมยปัญญา จินตามยปัญญา และภาวนามยปัญญา ส่วนธรรมชาติของความรู้ได้แก่สัจธรรม ๒ คือ สมมติสัจกับปรมัตถสัจ ความสมเหตุสมผลของความรู้ ได้แก่ โลกุตตรปัญญา เป็นความรู้ที่เกิดจากประสบการณ์ตรงซึ่งเป็นสัญญาชั้นพิเศษที่อยู่เหนือระดับสามัญธรรมดา และเกณฑ์ที่ใช้ตัดสินความรู้ ได้แก่ หลักกาลามสูตร ๑๐ ประการเป็นหลักเกณฑ์ในเบื้องต้น และสัมมาทิฏฐิกับภาวนามยปัญญา เป็นหลักเกณฑ์ในระดับที่สูง

แนวคิดเรื่องญาณวิทยาในธัมมปทัฏฐกถา เป็นความรู้ที่พระอรรถกถาจารย์ได้แก่
พระพุทธโฆสเถระรจนาขึ้น เพื่ออธิบายพระพุทธพจน์ให้เป็นรูปธรรมให้ได้เข้าใจและจดจำได้ง่าย ญาณวิทยาในธัมมปทัฏฐกถามีอยู่ถึง ๓๐๕ เรื่อง มีความเหมือนกับญาณวิทยาทั่วไปตรงที่มุ่งแสวงหาที่มาของความรู้ ธรรมชาติ ขอบเขต ความสมบูรณ์ ตลอดถึงปัจจัยที่ทำให้เกิดความรู้จริงเพื่อเป็นแนวทางหรือกระบวนการที่จะนำพาบุคคลไปสู่ความรู้ที่แท้จริง แต่ต่างกันคือญาณวิทยาทั่วไปมุ่งแสวงหาแต่ความรู้ภายนอกที่เป็นเหตุให้ติดอยู่กับโลกวัตถุ ส่วนญาณวิทยาในธัมมปทัฏฐกถามุ่งแสวงหาความรู้ทั้งโลกภายนอกและโลกภายใน มุ่งให้เกิดความรู้เท่าทันต่อสรรพสิ่ง จนสามารถทำให้จิตหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏสงสาร และมีเป้าหมายอยู่ที่ประโยชน์ ๓ ระดับคือ ประโยชน์ในโลกนี้ ประโยชน์ในโลกหน้า และประโยชน์สูงสุดคือการเข้าถึงพระนิพพาน

ญาณวิทยากับกระบวนการเรียนรู้ในธัมมปทัฏฐกถาเกิดขึ้นโดยอาศัยเทคนิควิธีการสอนของพระพุทธเจ้าที่ทรงวางแบบอย่างไว้อย่างถูกต้องเหมาะสมแก่สติปัญญาของแต่ละบุคคล ความรู้มี ๒ ชนิดคือ () ความรู้โดยอ้อม ได้แก่ สุตมยปัญญาและจินตามยปัญญา เป็นความรู้ที่อาศัยปัจจัยภายนอกและภายใน เป็นได้ทั้งสัมมาทิฏฐิและมิจฉาทิฏฐิ  () ความรู้โดยตรง ได้แก่ ภาวนามยปัญญา เป็นความรู้ที่เกิดจากการฝึกฝนอบรมจิตโดยตรง เป็นสัมมาทิฏฐิฝ่ายเดียว ส่วนขอบเขตของความรู้แบ่งเป็น ๒ ระดับคือ () ความรู้ที่ทำให้เกิดความสงบสุขในการดำเนินชีวิตประจำวัน () ความรู้ที่ทำให้หลุดพ้นจากอาสวกิเลส ได้แก่ พระนิพพาน  วิธีการใช้ญาณวิทยาในธัมมปทัฏฐกถาเพื่อเป็นบ่อเกิดแห่งความรู้จากเรื่องตัวอย่างทั้ง ๒๖ เรื่องนั้น มีกระบวนการแห่งญาณวิทยาเน้นสู่จริยศาสตร์ คือ ภาคปฏิบัติการหรือการฝึกอบรมเริ่มจากศรัทธาไปสู่สัมมาทิฏฐิจนถึงขั้นสัมมาญาณะ และเข้าถึงจุดหมายคือความหลุดพ้นเป็นอิสระเรียกว่า สัมมาวิมุตติ  การประยุกต์ใช้ญาณวิทยาในธัมมปทัฏฐกถากับการพัฒนาชีวิตมีหลายรูปแบบขึ้นอยู่กับจริตของแต่ละบุคคล บางคนอาจจะเหมาะกับหลักธรรมระดับศีลใช้สุตมยปัญญา ระดับสมาธิใช้จินตามยปัญญา ระดับปัญญาใช้ภาวนามยปัญญา ซึ่งสามารถพัฒนาชีวิตไปสู่เป้าหมาย ๓ ระดับ ได้แก่ () ขั้นต้น คือการตั้งเป้าหมายชีวิตเพื่อประโยชน์ในชาตินี้ () ขั้นกลาง คือการตั้งเป้าหมายชีวิตเพื่อประโยชน์ในชาติหน้า และ () ขั้นสูงสุด คือการตั้งเป้าหมายชีวิตเพื่อประโยชน์อย่างยิ่ง ได้แก่ พระนิพพาน

download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕