หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » แม่ชีระวีวรรณ ธมฺมจารินี (ง่านวิสุทธิพันธ์)
 
เข้าชม : ๑๙๙๙๖ ครั้ง
การศึกษาสภาวญาณเบื้องต้นของผู้เข้าปฏิบัติวิปัสสนาตามหลักสติปัฏฐาน ๔ ณ สำนัก-วิปัสสนากรรมฐาน วัดพระธาตุศรีจอมทอง-วรวิหาร(๒๕๕๑)
ชื่อผู้วิจัย : แม่ชีระวีวรรณ ธมฺมจารินี (ง่านวิสุทธิพันธ์) ข้อมูลวันที่ : ๒๐/๐๘/๒๐๑๐
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(วิปัสนาภาวนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระพรหมโมลี
  รศ.ดร. วิชัย วงษ์ใหญ่
  ผศ.เวทย์ บรรณกรกุล
วันสำเร็จการศึกษา : ๘ พฤษภาคม ๒๕๕๑
 
บทคัดย่อ

             การศึกษาสภาวญาณเบื้องต้นของผู้เข้าปฏิบัติวิปัสสนาตามหลักสติปัฏฐาน ๔ ณ สำนักวิปัสสนากรรมฐานวัดพระธาตุศรีจอมทอง วรวิหาร มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาหลักปฏิบัติวิปัสสนาตามหลักสติปัฏฐาน ๔ ที่ปรากฏในพระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา และคัมภีร์อื่นๆที่เกี่ยวข้อง และศึกษาสภาวญาณเบื้องต้น อารมณ์ และการปรับอินทรีย์ ที่เกิดขึ้นของผู้เข้าปฏิบัติวิปัสสนาตามหลักสติปัฏฐาน ๔ ณ สำนักวิปัสสนากรรมฐานวัดพระธาตุศรีจอมทอง วรวิหารกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย คือ นักศึกษามหาวิทยาลัยราชมงคล วิทยาเขตลำปาง

ปริญญาตรี ชั้นปีที่ ๓ ในโครงการปฏิบัติธรรมเฉลิมพระเกียรติเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐พรรษามหามงคลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช รุ่นที่ ๒๐ จำนวน ๑๖ คนโดยเครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสอบถาม แบบสังเกต และแบบถามตอบสอบอารมณ์ และนำผลที่ได้จากการรวบรวมข้อมูลมาวิเคราะห์หาค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน แล้วนำเสนอในรูปแบบตารางบรรยายเชิงพรรณนา
ผลการวิจัยสรุปได้ว่า หลักการปฏิบัติของสำนักวิปัสสนากรรมฐานวัดพระธาตุศรี-จอมทอง วรวิหาร มีความสอดคล้องตามคัมภีร์พระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา และคัมภีร์ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งผลจากการสังเกตและการถามตอบสอบอารมณ์นั้น สภาวะของผู้ปฏิบัติแต่ละคนเป็นไปไม่แน่นอน จำเป็นต้องดูสภาวะหลาย ๆ ด้านประกอบกัน ผู้ปฏิบัติบางคนมีสภาวะที่ปรากฏให้สังเกตได้ยาก บางคนมีสภาวะที่ปรากฏและสังเกตได้ง่าย โดยผลจากการวิจัยนี้เป็นอาการโดยย่อ เพื่อใช้เป็นหลักในการวินิจฉัยผลการวิจัยยังสามารถที่จะแสดงเป็นนัยได้ว่า การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานจะต้องพิจารณาทั้งสภาวธรรมภายในและภายนอกพร้อมกัน พร้อมทั้งการพินิจถึงเหตุปัจจัยจากอดีตที่ผ่านมาว่าเคยทำเหตุปัจจัยนั้นมาก่อนหรือไม่ ซึ่งสภาวธรรมและเหตุดังกล่าวมีผลต่อการปฏิบัติ
คือ บางคนปฏิบัติลำบากสำเร็จช้า บางคนปฏิบัติลำบากสำเร็จเร็ว บางคนปฏิบัติง่ายสำเร็จช้าบางคนปฏิบัติง่ายแต่สำเร็จเร็ว นอกจากนี้การกระทำในปัจจุบัน ความตั้งใจในการกำหนดรูปนาม ทั้งภายนอกและภายใน อย่างประณีตบรรจงจดจ่อต่อเนื่องในทุกๆ อิริยาบถตั้งแต่ตื่นนอนจนถึงเข้านอน คำแนะนำของพระวิปัสสนาจารย์ที่มีความเข้าใจและมีประสบการณ์ในการซักถามสภาวธรรมต่าง ๆ และการปรับอินทรีย์ของผู้ปฏิบัติให้เสมอกัน ก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญในการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน เพื่อให้สภาวญาณเบื้องต้น ของผู้ปฏิบัติเจริญก้าวหน้าขึ้นไปเป็นลำดับ ตั้งแต่สภาวญาณ ๑ ไปจนถึงมรรค ผล นิพพาน การศึกษาฉบับนี้ ยังมีประโยชน์ต่อผู้อ่านทั่วไป ให้มีความเข้าใจในการฝึกปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน และสามารถที่จะนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้อีกด้วย
 
 
 
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕