หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พันเอก บุญยัง ศรีสมพงษ์
 
เข้าชม : ๑๙๙๙๐ ครั้ง
การศึกษาบทบาทในการสอนธรรมของอนุศาสนาจารย์กองทัพบก(๒๕๔๙)
ชื่อผู้วิจัย : พันเอก บุญยัง ศรีสมพงษ์ ข้อมูลวันที่ : ๑๙/๐๘/๒๐๑๐
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาสมจินต์ สมฺมาปญฺโญ
  พันเอก เลื่อน สุนทรเศวต
  นาย รังษี สุทนต์
วันสำเร็จการศึกษา : ๓๐ ธันวาคม ๒๕๔๙
 
บทคัดย่อ

             การศึกษาเรื่องบทบาทในการสอนธรรมของอนุศาสนาจารย์กองทัพบก มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ ๑. เพื่อศึกษากำเนิดและพัฒนาการของอนุศาสนาจารย์ ๒. เพื่อศึกษาหลักธรรมและวิธีการสอนธรรมของอนุศาสนาจารย์ และ ๓. เพื่อศึกษาบทบาทของอนุศาสนาจารย์ในสังคมไทย
ผลการศึกษาทำให้ทราบว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ เป็นผู้พระราชทานกำเนิดอนุศาสนาจารย์คนแรก คือ อำมาตย์ตรีพระธรรมนิเทศทวยหาญ (อยู่ อดมศิลป์) โดยมีพระประสงค์จะส่งอนุศาสนาจารย์ไปปฏิบัติหน้าที่เป็นกัลยาณมิตรปลุกปลอบใจทหารยามอยู่ห่างไกลบ้านเมืองในราชการสงครามร่วมรบกับฝ่ายสัมพันธมิตร ณ ทวีปยุโรป ในสงครามโลก ครั้งที่ ๑ พ.ศ.๒๔๖๑ เมื่ออนุศาสนาจารย์ปฏิบัติหน้าที่ราชการเสร็จตามพระราชประสงค์แล้วกลับมาสู่ประเทศไทย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้า ฯ ให้ตั้งกองอนุศาสนาจารย์ขึ้น เมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๖๒ นับถึงปัจจุบัน กองอนุศาสนาจารย์มีอายุครบ ๘๗ ปี
วิธีการสอนธรรมของอนุศาสนาจารย์กองทัพบก ได้ยึดหลักการสอน ๔ แบบ คือ การอบรมศีลธรรม การสอนเชิงวิชาการ การสนทนาธรรม และการตั้งปัญหาถาม อย่างไรก็ตาม อนุศาสนาจารย์ก็ได้ใช้หลักการสอนของพระพุทธเจ้าที่เรียกว่า ๔ ส. เข้าประกอบด้วย คือ สันทัสสนา สอนแจ่มแจ้ง สมาทปนา สอนจับใจ สมุตเตชนา สอนให้กล้าหาญ และสัมปหังสนา สอนให้ร่าเริงบทบาทของอนุศาสนาจารย์กองทัพบกในสังคมไทย โดยสรุปมี ๒ อย่าง คือ บทบาทในหน่วยทหาร กับบทบาทนอกหน่วยทหาร บทบาทของอนุศาสนาจารย์ในหน่วยทหารนั้น หน้าที่หลักคือ การสอน/การอบรมศีลธรรมทหารในหน่วยทหารที่ตนประจำการอยู่ รวมทั้งการสอนวิชาการศาสนาและศีลธรรมในโรงเรียนเหล่าต่าง ๆ ของทหาร หน้าที่รองคือ การเป็นพิธีกรปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนาให้กับหน่วยทหารและกำลังพลทุกคน การไปเยี่ยมเยียนทหารที่เจ็บป่วยที่โรงพยาบาลและที่บ้าน การเป็นที่ปรึกษาปัญหาด้านจิตใจของทหารและครอบครัว การเป็นที่ปรึกษาข้อข้าราชการด้านศาสนาและขวัญทหารของผู้บังคับบัญชา และการดำเนินการสอนศีลธรรมในโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ เพื่อสอนศาสนาและศีลธรรมแก่เยาวชนลูกหลานทหารและประชาชนใกล้เคียง
ส่วนบทบาทนอกหน่วยทหารนั้น อนุศาสนาจารย์ได้ไปบรรยายหรืออภิปรายธรรม และเป็นพิธีกรปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนาให้แก่หน่วยราชการ รัฐวิสาหกิจ และองค์กรด้านศาสนาต่าง ๆ ตามที่เชิญมา เช่น วัด โรงเรียน กรมการศาสนา กรมราชทัณฑ์ พุทธสมาคม สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และคณะกรรมการเอกลักษณ์แห่งชาติ

 

Download :  254987.pdf

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕