หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหานันทวิทย์ ธีรภทฺโท (แก้วบุตรดี)
 
เข้าชม : ๒๐๐๒๓ ครั้ง
การศึกษาเปรียบเทียบจริยศาสตร์ในการรู้จักตนเองในพุทธปรัชญา (๒๕๕๐)
ชื่อผู้วิจัย : พระมหานันทวิทย์ ธีรภทฺโท (แก้วบุตรดี) ข้อมูลวันที่ : ๑๗/๐๘/๒๐๑๐
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(ปรัชญา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหากฤษณะ ตรุโณ
  นายสนิท ศรีสำแดง
  นายกฤต ศรียะอาจ
วันสำเร็จการศึกษา : ๖ มีนาคม ๒๕๕๐
 
บทคัดย่อ

              งานวิจัยนี้ เป็นการศึกษาเปรียบเทียบจริยศาสตร์ในการรู้จักตนเองในพุทธปรัชญา
เถรวาทกับปรัชญาของเล่าจื้อ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและเปรียบเทียบแนวคิดเกี่ยวกับการ
รู้จักตนเองในพุทธปรัชญาเถรวาท กับปรัชญาของเล่าจื้อ
จากการศึกษาแนวคิดเกี่ยวกับการรู้จักตนเองในพุทธปรัชญาเถรวาทพบว่า
ความหมายของคำว่าการรู้จักตนเองมี๔ อย่าง คือ ความหมายทั่วไปที่นักวิชาการนำมา
อธิบายเพื่อให้เข้าใจง่าย ความหมายที่ปรากฏในพระวินัย ความหมายที่ปรากฏในพระสูตร
ทั้งหลาย และความหมายตามที่ปรากฏในพระอภิธรรมเป็นปรมัตถธรรมกล่าวถึงกาย จิต
เจตสิก รูป และนิพพาน ส่วนคุณค่าการรู้จักตนเองเป็นคุณธรรมความดี ช่วยให้มีอายุยืน มี
ทรัพย์ มีกำลัง มีเกียรติยศ รู้จักปฏิบัติต่อผู้อื่นด้วยการอนุเคราะห์ ช่วยเหลือผู้อื่นให้ได้ฟังสิ่งที่
ดี ทำความเห็นให้ตรง และทำจิตให้ผ่องใส เกี่ยวกับหลักคุณค่าที่เป็นสภาวธรรมนั้น ทุกคน
ต้องรู้จักวิธีทำจิตให้สงบ ด้วยการปฏิบัติกรรมฐาน จนรู้แจ้งเห็นจริงในสภาวธรรม ส่วนหลัก
ปฏิบัติเพื่อการรู้จักตนเองในพุทธปรัชญาเถรวาทมี๒ ระดับ คือ (๑) หลักปฏิบัติระดับโลกียะ
เป็นหลักการดำเนินชีวิตเพื่อการรู้จักเอาชนะความชั่วด้วยความดี และการรู้จักลักษณะนิสัย
คนอื่น โดยการปฏิบัติคุณธรรมในสังคม มีคุณธรรมนักปกครอง คุณธรรมพ่อค้า คุณธรรมครู
คุณธรรมสำหรับผู้ใหญ่ และหน้าที่ที่แต่ละคนต้องปฏิบัติตนในสังคม (๒) หลักปฏิบัติระดับ
โลกุตตระ เพื่อความหลุดพ้นจากกิเลสเริ่มตั้งแต่เรียนรู้ไตรสิกขา รู้จักศีล สมาธิและปัญญา
โดยการเจริญวิปัสสนากรรมฐานเป็นที่สุด
จากการศึกษาแนวคิดเรื่องการรู้จักตนเองในปรัชญาเล่าจื้อนั้นพบว่า ความหมาย
ของคำว่าการรู้จักตนเอง คือหลักการดำเนินชีวิตอยู่ในธรรมชาติ รู้จักบริโภคอาหาร และรู้จัก
ความดีความชั่ว ลักษณะการรู้จักตนเองนั้นเกิดขึ้นเมื่อเล่าจื้อเบื่อหน่ายในชีวิตและออก
ท่องเที่ยวไปชายแดน แล้วเขียนคัมภีร์เต๋า เต็กกิง ให้แก่นายด่าน เกี่ยวกับการปฏิบัติตาม
หลักการรู้จักตนเองนั้น ได้แก่หลักคำสอนในการดำเนินชีวิตเพื่อเข้าใจกฎเกณฑ์ธรรมชาติ
การปฏิบัติตนผสมกลมกลืนกับธรรมชาติ สำหรับการรู้จักตนเองทางสังคมได้แก่การปฏิบัติ
คุณธรรมให้เกิดมีในสังคม อนึ่งการรู้จักตนเองในภาวะแท้จริงสูงสุดก็คือการบรรลุความเป็น
เต๋า คือ ความว่างเปล่า “อภาวะ”
จากการศึกษาเปรียบเทียบความหมายคำว่าการรู้จักตนเองในพุทธปรัชญาเถรวาท
กับปรัชญาของเล่าจื้อพบว่ามีความเหมือนกัน คือสอนให้บุคคลมีการพิจารณากายกับจิต
ลักษณะการรู้จักตนเอง มีความแตกต่างกันคือ พุทธปรัชญาเถรวาทเริ่มตั้งแต่เจ้าชายสิทธัตถะ
เสด็จออกผนวชแล้วค้นพบสัจธรรมซึ่งมีปรากฏในพระไตรปิฎก ส่วนปรัชญาเล่าจื้อปรากฎเมื่อ
เล่าจื้อศึกษาค้นคว้าตำราและสภาพสังคม แล้วเขียนคัมภีร์เต๋า เต็กกิง ขึ้น ทำให้คนรู้จักเต๋าคือ
ธรรมชาติ ส่วนคุณค่าของการรู้จักตนเองของทั้งสองฝ่ายมีความแตกต่างกัน ในการดำเนินชีวิต
พุทธปรัชญาเถรวาทมีข้อปฏิบัติพื้นฐานคือศีล ๕ ส่วนเล่าจื้อมีการดำเนินชีวิตอยู่กับธรรมชาติ
คุณค่าการรู้จักตนเองในสังคม มีความเหมือนกัน คือ การปฏิบัติตนเพื่อสร้างคุณธรรมให้เกิด
ในสังคม ส่วนคุณค่าการพัฒนาจิตสู่ความหลุดพ้นของทั้งสองนั้น มีความเหมือนกันคือความ
หลุดแห่งจิต ซึ่งต่างกันเฉพาะการเรียกชื่อและวิธีปฏิบัติ วิธีปฏิบัติเพื่อการรู้จักตนเอง และ
หลักคำสอนในการดำเนินชีวิตเพื่อตนเอง รวมถึงหลักปฏิบัติตนในสังคม แนวความคิดทั้งสอง
ที่กล่าวมานี้ไม่แตกต่างกัน แต่หลักปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้นต่างกัน ในพุทธปรัชญาเถรวาทมี
หลักการปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้น ๒ ระดับ คือ ระดับโลกียะ และระดับโลกุตตระ คือ
“พระนิพพาน” ส่วนการปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้นของเล่าจื้อเป็นเพียงภาวะจิตว่างเปล่า ซึ่งเป็น
อมตะอยู่ในภาวะธรรมชาติ

 

 

Download :  255015.pdf

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕