หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหาบุญเรียน ปภงฺกโร (พิลาพันธุ์)
 
เข้าชม : ๒๐๐๒๕ ครั้ง
การศึกษาวิเคราะห์แนวความคิดเรื่องเมตตาในพุทธปรัชญาเถรวาท (๒๕๔๒)
ชื่อผู้วิจัย : พระมหาบุญเรียน ปภงฺกโร (พิลาพันธุ์) ข้อมูลวันที่ : ๑๗/๐๘/๒๐๑๐
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(ปรัชญา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาต่วน สิริธมฺโม
  นายประสิทธฺ์ จันรัตนา
  ดร.วีรชาติ นิ่มอนงค์
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๙ มีนาคม ๒๕๔๒
 
บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์นี้ ผู้วิจัยได้ศึกษาค้นคว้า โดยมีจุดประสงค์เพื่อจะศึกษาแนวความคิดเรื่องเมตตาในพุทธปรัชญาเถรวาทอันเป็นหัวข้อธรรมที่สำคัญหัวข้อหนึ่งที่ปรากฏในพระไตรปิฎก ซึ่งผู้วิจัยได้แบ่งแนวความคิดเรื่องเมตตาออกเป็นบท ๆ ในแต่ละบท มีรายละเอียดที่จะศึกษา ดังนี้

          บทที่ ๑ ว่าด้วยความเป็นมาและวัตถุประสงค์

          บทที่ ๒ ว่าด้วยความหมาย และเมตตาในองค์ธรรมต่าง ๆ

          บทที่ ๓ ว่าด้วยโทษของการขาดเมตตา

          บทที่ ๔ ว่าด้วยประโยชน์และอานิสงส์ของเมตตา

          บทที่ ๕ ว่าด้วยบทสรุปผลการวิจัยและข้อเสนอแนะ

          ผลการวิจัยพบว่า เมตตา เป็นหลักธรรมที่สำคัญทางพระพุทธศาสนากล่าวคือ ในระดับพื้นฐาน เมตตาเป็นหลักธรรมในอันที่จะให้คนทั้งหลายเอื้อเฟื้อซึ่งกันและกันไม่ทำลาย ไม่เบียดเบียนกัน ยังคนทั้งหลายให้อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข และสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นแก่ชาวโลก

          ในระดับกลาง เมตตาเป็นคุณธรรมที่ช่วยพัฒนาจิตให้สะอาดบริสุทธิ์ ลดกิเลส ลดปัญหา ขจัดความทุกข์ให้เบาบาง มีความเห็นแก่ตัวน้อยลง ยังประโยชน์ให้เกิดขึ้นทั้งแก่ตนเองและสังคมส่วนรวม

          ในระดับสูง เมตตาเป็นคุณธรรมที่ยังบุคคลให้หมดตัวตน หมดกิเลส หมดปัญหา ไม่มีอาสวะเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวในจิตใจ เป็นเมตตาที่สะอาดบริสุทธิ์ไม่มีผู้ให้และผู้รับ หมายถึงการบรรลุพระนิพพาน เป็นเมตตาของพระพุทธเจ้า และพระอรหันต์ทั้งหลาย

          เมตตานั้น เกิดขึ้นได้ ๓ ทาง คือ ทางกาย ทางวาจา และทางใจ เมตตาที่มีกิเลสครอบงำ หรือเมตตาที่ปราศจากปัญญา ย่อมเป็นสาเหตุให้เกิดโทษได้ ถ้าบุคคลเจริญเมตตาอย่างต่อเนื่องก็ย่อมได้รับอานิสงส์หรือคุณประโยชน์หาประมาณมิได้

          บุคคลย่อมได้รับอานิสงส์หรือคุณประโยชน์จากการเจริญเมตตา ๒ ลักษณะ คือ
          (๑) ในขณะยังมีชีวิตอยู่ บุคคลย่อมได้รับอานิสงส์หรือคุณประโยชน์ทางด้านจิตใจเป็นสำคัญ คือ ถ้าบุคคลมีจิตใจเต็มเปี่ยมไปด้วยเมตตาแล้ว กิจที่กระทำและคำที่พูดก็ย่อมประกอบไปด้วยเมตตา

          (๒) หลังจากตายไปแล้ว บุคคลย่อมได้รับอานิสงส์ของการเจริญเมตตาในลักษณะต่าง ๆ ซึ่งติดตามไปในชาติต่อไปเหมือนเงาตามตัว เช่น ไปเกิดในพรหมโลก เป็นต้น
 

Download : 254203.pdf
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕