หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระสุทธิพจน์ เตชธมฺโม (วรัตน์พุทธางกูร)
 
เข้าชม : ๒๐๐๐๘ ครั้ง
การบริหารจัดการวัดให้เป็นศูนย์กลางชุมชนตามวิสัยทัศน์เชิงนโยบาย ไทยแลนด์ ๔.๐ ในอำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี (สาขาวิชาการจัดการเชิงพุทธ)
ชื่อผู้วิจัย : พระสุทธิพจน์ เตชธมฺโม (วรัตน์พุทธางกูร) ข้อมูลวันที่ : ๒๓/๑๑/๒๐๑๙
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระครูสังฆรักษ์ทรงพรรณ ชยทตฺโต
  พระครูสังฆรักษ์เกียรติศักดิ์ กิตฺติปญฺโญ
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๑๕ มีนาคม ๒๕๖๑
 
บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีจุดประสงค์ คือ ๑. เพื่อศึกษาความคิดเห็นที่มีต่อการบริหารจัดการวัดให้เป็นศูนย์กลางชุมชน ตามวิสัยทัศน์เชิงนโยบายไทยแลนด์ ๔.๐ ในอำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี       ๒. เพื่อเปรียบเทียบการบริหารจัดการวัดให้เป็นศูนย์กลางชุมชน ตามวิสัยทัศน์เชิงนโยบายไทยแลนด์ ๔.๐ ในอำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี โดยจำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล และ ๓. เพื่อศึกษาปัญหา อุปสรรคและข้อเสนอแนะต่อการบริหารจัดการวัดให้เป็นศูนย์กลางชุมชน ตามวิสัยทัศน์เชิงนโยบายไทยแลนด์ ๔.๐ ในอำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี

การศึกษาวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยแบบผสานวิธี โดยการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) เก็บข้อมูลภาคสนาม (Field Study) จากประชาชนที่มีภูมิลำเนาในพื้นที่เขตปกครองของอำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี จำนวน ๓๙๖ คน โดยใช้แบบสอบถาม (Questionnaire) ลักษณะของแบบสอบถามเป็นทั้งแบบปลายปิดและแบบปลายเปิด ผู้วิจัยได้วิเคราะห์ข้อมูลที่ได้โดยการหาค่าความถี่ (Frequencies) ค่าร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) ทดสอบสมมติฐานโดยการทดสอบค่าที (t-test) เพื่อทดสอบความแตกต่างระหว่างค่าเฉลี่ยสองกลุ่ม และการทดสอบค่าเอฟ (F-test) ด้วยวิธีการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One Way ANOVA) เพื่อทดสอบความแตกต่างระหว่างค่าเฉลี่ยตั้งแต่สามกลุ่มขึ้นไป และทดสอบความแตกต่างของค่าเฉลี่ยเป็นรายคู่ด้วยวิธีผลต่างนัยสำคัญน้อยที่สุด (Least Significant Difference : LSD) และในส่วนการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) คือ การวิเคราะห์เอกสารและการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-Depth Interview) กับผู้ให้ข้อมูลหลัก (Key Informant) ๑๙ รูป/ท่าน ผู้วิจัยได้วิเคราะห์ข้อมูลที่ได้โดยใช้เทคนิคการวิเคราะห์เนื้อหาประกอบบริบท

 

 

ผลการวิจัยพบว่า

 

 

๑. ความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อการบริหารจัดการวัดให้เป็นศูนย์กลางชุมชน ตามวิสัยทัศน์เชิงนโยบายไทยแลนด์ ๔.๐ ในอำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี ในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด ค่าเฉลี่ยเท่ากับ ๔.๔๑ เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า อยู่ในระดับมากที่สุดในทุกด้านเช่นกัน เมื่อเรียงลำดับจากด้านที่มีค่าเฉลี่ยมากไปหาด้านที่มีค่าเฉลี่ยน้อย ได้แก่ ด้านการจัดการ (มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ ๔.๕๑) ด้านวัสดุอุปกรณ์ (มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ ๔.๔๓) ด้านการเงิน (มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ ๔.๔๐) และด้านการบริหารบุคคล (มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ ๔.๓๒) ตามลำดับ

๒. ผลการเปรียบเทียบความคิดเห็นที่มีต่อการบริหารจัดการวัดให้เป็นศูนย์กลางชุมชน ตามวิสัยทัศน์เชิงนโยบายไทยแลนด์ ๔.๐ ในอำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี โดยจำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล พบว่า เพศ อายุ วุฒิการศึกษา อาชีพ รายได้ต่อเดือน และระยะเวลาที่อาศัยในชุมชน มีผลต่อความคิดเห็นที่แตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ ๐.๐๕ ในส่วนของสถานภาพส่วนบุคคลไม่มีผลต่อความคิดเห็นของประชาชน

๓. ปัญหาและอุปสรรคต่อการบริหารจัดการวัดให้เป็นศูนย์กลางชุมชน ตามวิสัยทัศน์เชิงนโยบายไทยแลนด์ ๔.๐ ในอำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี พบว่า ด้านบุคคล คือ ปัจจุบันจำนวนพระสงฆ์สามเณรมีจำนวนน้อยลง โดยเฉพาะผู้ที่ตั้งใจบวชระยะยาวที่พร้อมอุทิศตนเพื่อพระพุทธศาสนาอย่างจริงจัง เพราะส่วนใหญ่บวชเพียงระยะสั้นๆ ตามประเพณี ทำให้หลายวัดขาดกำลังหลักในการบริหารจัดการวัดให้เป็นไปศูนย์กลางชุมชนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มพระสงฆ์สามเณรที่เป็นคนรุ่นใหม่ มีภาวะผู้นำและมีการศึกษาสูง จะหมุนเวียนเข้ามาบวชเพียงระยะสั้นๆ ส่วนพระสงฆ์ที่บวชระยะยาวส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงอายุ ซึ่งการพัฒนาวัดให้เป็นไปตามวิสัยทัศน์เชิงนโยบายไทยแลนด์ ๔.๐ จำเป็นต้องใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาช่วยขับเคลื่อน ซึ่งหากพระสงฆ์กลุ่มดังกล่าวไม่ปรับตัวให้ก้าวทัน ก็จะไม่เกิดการพัฒนาตามยุคสมัย ด้านการเงิน คือ ในปัจจุบันมีข่าวเรื่องความไม่โปร่งใสในการบริหารจัดการทรัพย์สินของวัด แม้ยังมิได้รับการพิสูจน์หรือตรวจสอบตามกระบวนการยุติธรรมจนถึงที่สุด แต่ก็ส่งผลโดยภาพรวมต่อความเลื่อมใสศรัทธาของพุทธศาสนิกชน ด้านวัสดุอุปกรณ์ คือ ความสะอาดของห้องน้ำ สถานที่ประกอบพิธีกรรม ความแข็งแรงมั่นคงของสิ่งปลูกสร้าง อาคารเสนาสนะ สถานที่พักของผู้บวชชีพราหมณ์ ควรมีการแบ่งเป็นสัดส่วนชายหญิง โดยแยกออกมาจากส่วนของพระสงฆ์ และด้านการจัดการ คือ การพัฒนาวัดส่วนใหญ่ ยังขาดแผนกลยุทธ์จึงทำให้ขาดหลักการและแบบแผน จึงก่อให้เกิดต้นทุนค่าเสียโอกาสและเสียเวลาโดยใช่เหตุ ในส่วนของข้อเสนอแนะพบว่า ด้านบุคคล คือ ควรมีการส่งเสริมให้พระภิกษุสามเณรได้เข้ารับการศึกษาในระดับที่เพิ่มขึ้น เพื่อสร้างแรงจูงใจและเป็นหลักประกันความมั่นคงในการอุทิศตนเพื่อพระพุทธศาสนาในระยะยาว ด้านการเงิน คือ การบริหารจัดการทางการเงิน ควรมีการจัดทำบัญชีการเงิน งบการเงิน เพื่อแสดงรายรับรายจ่ายอย่างเป็นระบบและสามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ในทุกกิจกรรมทางการเงินที่เกี่ยวข้อง ด้านวัสดุอุปกรณ์ คือ ควรมีการนำหลัก ๕ส. (สะสาง, สะดวก, สะอาด, สุขลักษณะ, สร้างนิสัย) มาปรับใช้อย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ โดยความร่วมมือจากหลายๆ ฝ่าย และด้านการจัดการ คือ ควรมีการวางแผนนโยบายการดำเนินงาน แผนกลยุทธ์ และโครงการพัฒนาวัดอย่างต่อเนื่อง โดยบูรณาการให้เหมาะสมกับวัดนั้นๆ และมีการติดตามความคืบหน้าในการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง.

Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕