หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหาชนะชัย ภูริวฑฺฒโก (ศรีภูมาตย์)
 
เข้าชม : ๑๙๙๙๒ ครั้ง
ศึกษาประเพณีสงกรานต์ : กรณีศึกษาคุณค่าของประเพณีการสมโภชและ สรงน้ำหลวงพ่อพระใสที่มีต่อชุมชนในเขตเทศบาลเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคาย
ชื่อผู้วิจัย : พระมหาชนะชัย ภูริวฑฺฒโก (ศรีภูมาตย์) ข้อมูลวันที่ : ๒๑/๑๑/๒๐๑๙
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาปริญญา วรญาโณ
  พระครูจิรธรรมธัช
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐
 
บทคัดย่อ

        วัตถุประสงค์ของการวิจัยเรื่องนี้ คือ (๑) เพื่อศึกษาประวัติความเป็นมาเกี่ยวกับประเพณีสงกรานต์  (๒) เพื่อศึกษาประวัติความเป็นมาประเพณีการสมโภชและการสรงน้ำหลวงพ่อพระใส  (๓) เพื่อศึกษาคุณค่าของประเพณีการสมโภชและการสรงน้ำหลวงพ่อพระใส ที่มีต่อชุมชนในเขตเทศบาลเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคาย โดยเป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ  เก็บข้อมูลภาคสนามจากกลุ่มตัวอย่างผลของการวิเคราะห์ข้อมูล สามารถสรุปผลการวิจัยดังนี้

ผลการวิจัยพบว่า

                  วันสงกรานต์ ถือเป็นประเพณีวันขึ้นปีใหม่ของไทยมาแต่โบราณ สะท้อนให้เห็นถึงลักษณะของความเป็นไทยได้อย่างเด่นชัด โดยใช้น้ำเป็นสื่อในการเชื่อมสัมพันธไมตรี ถือเป็นประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญของคนไทย มีความงดงาม มีคุณค่าสาระเป็นช่วงเวลาแห่งการรักษากายใจ การแสดงความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ และแสดงความปรารถนาดี ความเอื้ออาทรต่อญาติมิตรและแขกผู้มาเยือนนับเป็นประเพณีแห่งการสมานสามัคคีทั้งในครอบครัวและชุมชน

        ในปัจจุบันนี้ประเพณีการสมโภชและสรงน้ำองค์หลวงพ่อพระใสนั้น  ได้เริ่มตั้งแต่วันที่ ๑๒ ๑๘ เมษายนของทุกปี  ถือได้ว่าเป็นประเพณีและพิธีกรรมที่สำคัญสำหรับชาวหนองคายมาตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน โดยทุกฝ่ายต่างร่วมมือร่วมใจกันเป็นสมานฉันท์ ในการที่จะช่วยกันผดุงรักษาขนบประเพณีอันดีงาม  ซึ่งได้มีการจัดกิจกรรมต่างๆ ในช่วงเทศกาลดังกล่าว อันนำไปสู่คุณค่าในด้านต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างมากมายต่อชุมชนภายในเขตเทศบาลจังหวัดหนองคาย คุณค่าที่เกิดขึ้นจากประเพณีการสมโภชและสรงน้ำองค์หลวงพ่อพระใส สามารถแยกได้ดังนี้คือ

        คุณค่าทางด้านความเชื่อและศาสนา  พบว่าความเชื่อของผู้คนในชุมชนนั้น ได้สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษจนถึงปัจจุบัน ยังคงปฏิบัติต่อเนื่องกันมาไม่ขาดสาย แม้ว่าจะอยู่ท่ามกลางกระแสของความเจริญทางด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่เข้ามาสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของคนเรา ตามความเชื่อในทางพระพุทธศาสนานั้นเป็นความเชื่อที่มีเหตุผลมีหลักที่ถือปฏิบัติตามแนวทางหลักคำสอน ที่จะช่วยเสริมสร้างคุณค่าในแต่ละด้านให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น หลักของการบูชา หลักของความกตัญญูกตเวที หลักของความสามัคคี หลักของสังคหวัตถุ ๔ หลักของสาราณียธรรม ๖ เป็นต้น

        คุณค่าทางด้านการอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณี  พบว่าประเพณีการสมโภชและสรงน้ำหลวงพ่อพระใส ในเทศกาลตรุษสงกรานต์ ก็เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมและประเพณี ซึ่งเป็นวิถีชีวิตของคนในสังคม เป็นกรอบและเป็นแบบแผนให้คนในสังคมได้ยึดถือและปฏิบัติ หล่อหลอมก่อให้เกิดภาพลักษณ์ที่สง่างาม และชี้ให้เห็นว่าชาวจังหวัดหนองคาย ให้ความสำคัญในการบำรุงพุทธศาสนามาตั้งแต่โบราณกาลจนถึงปัจจุบัน ทุกคนในชุมชนจึงมีส่วนร่วมในการสืบสานวัฒนธรรมประเพณีให้ยั่งยืนถาวรสืบไป

        คุณค่าทางด้านสังคม  พบว่าสังคมของชาวจังหวัดหนองคาย เป็นสังคมที่มีอิทธิพลของพระพุทธศาสนาชัดเจนมาก ถึงแม้ว่าจะผสมผสานกับความเชื่อดั้งเดิมก็ตาม ในกระบวนการประเพณีและการประกอบพิธีกรรมนั้น เป็นการประสานร่วมมือกันของคนในสังคมเพื่อทำกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา ทำให้สังคมมีความรู้สึกถึงความเป็นพวกพ้องเป็นหมู่เหล่าและร่วมกันรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีที่เคยปฏิบัติมา

        คุณค่าทางด้านเศรษฐกิจ  พบว่าในด้านเศรษฐกิจและส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดหนองคายนั้น สามารถสร้างค่านิยมให้เกิดขึ้นแก่คนในชุมชนเขตเทศบาลจังหวัดหนองคาย เกิดการจับจ่ายใช้สอยภายในจังหวัด จึงทำให้เกิดคุณค่าทางด้านเศรษฐกิจและยังเป็นการส่งเสริมทางด้านการท่องเที่ยวของจังหวัด ทำให้ประชาชนที่อยู่ภายในชุมชนต่างก็ภูมิใจในถิ่นกำเนิด และร่วมกันอนุรักษ์รักษาประเพณีให้ยาวนานต่อไป

 

Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕