หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระโยธิน ญาณวโร (แสนมนตรี)
 
เข้าชม : ๒๐๐๐๐ ครั้ง
ประสิทธิผลการบริหารจัดการน้ำเสียในเขตเทศบาลเมืองพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี (สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์)
ชื่อผู้วิจัย : พระโยธิน ญาณวโร (แสนมนตรี) ข้อมูลวันที่ : ๒๔/๑๐/๒๐๑๙
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  สุรินทร์ นิยมางกูร
  เกียรติศักดิ์ สุขเหลือง
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๑๔ มีนาคม ๒๕๖๒
 
บทคัดย่อ

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์คือ ๑. เพื่อศึกษาประสิทธิผลการบริหารจัดการน้ำเสีย ในเขตพื้นที่เทศบาลบาลเมืองพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี ๒. เพื่อเปรียบเทียบความคิดเห็นของประชาชนต่อประสิทธิผลการบริหารจัดการน้ำเสียในเขตเทศบาลเมืองพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี โดยจำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล ๓. เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการบริหารงานตามหลักอิทธิบาท ๔ กับประสิทธิผลในการบริหารจัดการน้ำเสียในเขตเทศบาลเมืองพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี ๔. เพื่อศึกษาปัญหา อุปสรรคและข้อเสนอแนะต่อการบริหารจัดการน้ำเสียในเขตเทศบาลเมืองพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี

ระเบียบวิธีวิจัยเป็นแบบผสมวิธี โดยการวิจัยเชิงปริมาณ ใช้แบบสอบถามซึ่งมีค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ ๐.๘๗๕ สำรวจจากกลุ่มตัวอย่าง คือประชาชนในพื้นที่เทศบาลเมืองพนัสนิคม จำนวน ๓๘๖ คน วิเคราะห์ข้อมูลโดยหาความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบค่าที และการทดสอบค่าเอฟ ด้วยวิธีการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว การวิเคราะห์ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ด้วยวิธีของเพียร์สัน และการวิจัยเชิงคุณภาพ ใช้วิธีการสัมภาษณ์เชิงลึกกับผู้ให้ข้อมูลสำคัญ จำนวน ๑๒ คน วิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์เนื้อหาเชิงพรรณนา

ผลการวิจัยพบว่า

๑. ระดับประสิทธิผลการบริหารจัดการน้ำเสียในเขตเทศบาลเมืองพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก (  = ๓.๙๔, S.D. = ๐.๕๔๕) เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า อยู่ในระดับมากทุกด้าน คือ ด้านการวางแผน (  = ๓.๙๖, S.D. = ๐.๗๑๗) ด้านการปฏิบัติตามแผน (  = ๓.๙๓, S.D. = ๐.๗๒๐) ด้านการตรวจสอบ (  = ๓.๙๗, S.D. = ๐.๖๖๗) และด้านการปรับปรุงแก้ไข (  = ๓.๘๘, S.D. = ๐.๗๔๕)

๒. ผลการเปรียบเทียบความคิดเห็นของประชาชนต่อประสิทธิผลการบริหารจัดการน้ำเสียของเทศบาลเมืองพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี โดยจำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล พบว่า ประชาชนที่มี เพศ อายุ อาชีพ ระดับการศึกษา ที่อยู่อาศัยและรายได้ ต่างกัน มีความคิดเห็นเกี่ยวกับประสิทธิผลการบริหารจัดการน้ำเสียของเทศบาลเมืองพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี ไม่แตกต่างกันทั้งหมด จึงปฏิเสธสมมติฐานการวิจัย

๓. ความสัมพันธ์ระหว่างการบริหารงานตามหลักอิทธิบาท ๔ กับประสิทธิผลในการบริหารจัดการน้ำเสียในเขตเทศบาลเมืองพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี พบว่า การบริหารตามหลักอิทธิบาท ๔ มีความสัมพันธ์เชิงบวกกับประสิทธิผลในการบริหารจัดการน้ำเสีย โดยภาพรวมอยู่ในระดับสูง
(
R=.๗๑๓**) จำแนกตามรายด้านพบว่า ด้านการวางแผน มีความสัมพันธ์เชิงบวกอยู่ในระดับสูง
(
r=.๕๔๙**) ด้านการปฏิบัติตามแผน มีความสัมพันธ์เชิงบวกอยู่ในระดับสูง (r=.๕๑๒**)
ด้านการตรวจสอบ
มีความสัมพันธ์เชิงบวกอยู่ในระดับสูง (r=.๕๙๕**) และด้านการปรับปรุงแก้ไข มีความสัมพันธ์เชิงบวกอยู่ในระดับสูง (r=.๕๒๙**)

๔. ปัญหา อุปสรรคและข้อเสนอแนะต่อการบริหารจัดการน้ำเสียในเขตเทศบาลเมืองพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี คือ ๑) ประชาชนส่วนหนึ่งไม่ได้รับข่าวสาร ประชาสัมพันธ์เท่าที่ควร เกี่ยวกับแผนในการที่จะดำเนินงานบริหารจัดการน้ำเสียของเทศบาล ๒) ประชาชนไม่เคารพและปฏิบัติตามนโยบายการจัดการน้ำเสียของเทศบาล ๓) เทศบาลมีการตรวจสอบระบบท่อส่งน้ำเสียเดิมที่ไม่ได้คุณภาพ ๔) เทศบาลมีการพัฒนาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงระบบท่อส่งน้ำเสียใหม่ให้มีประสิทธิภาพ

ข้อเสนอแนะคือ ๑) รณรงค์ ประชาสัมพันธ์ปลูกฝังจิตสำนึกของประชาชนในเขตเทศบาลเมืองพนัสนิคม ให้รักสิ่งแวดล้อม ๒) บ้านเรือนทุกหลังคาเรือนควรบำบัดสิ่งปฏิกูลก่อนปล่อยลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ ๓) เทศบาลกับชุมชนย่อยแต่ละชุมชนย่อยควรประสานงานกันเพื่อจัดทำโครงการในการฟื้นฟูคลองสาธารณะในเขตเทศบาลเมืองพนัสนิคม ๔) จัดตั้งให้มีจุดทิ้งขยะให้ชัดเจนและทั่วถึงตลอดจนเพียงพอต่อความต้องการของประชาชน

 

Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕