หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » สุทธิพันธ์ ถนอมพันธ์
 
เข้าชม : ๑๙๙๙๙ ครั้ง
การฟื้นฟูและรักษาความสมดุลสุขภาพกายและจิตตามหลักพระพุทธศาสนา นิกายวัชรยาน
ชื่อผู้วิจัย : สุทธิพันธ์ ถนอมพันธ์ ข้อมูลวันที่ : ๑๕/๑๐/๒๐๑๙
ปริญญา : พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระครูสุนทรสังฆพินิต
  เทพประวิณ จันทร์แรง
  สมหวัง แก้วสุฟอง
วันสำเร็จการศึกษา : ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑
 
บทคัดย่อ

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ ๑. เพื่อศึกษาการฟื้นฟูและรักษาความสมดุลสุขภาพกายและจิตในตะวันออกและตะวันตก ๒. เพื่อศึกษากระบวนการและผลลัพธ์
การ
ฟื้นฟูและรักษาความสมดุลสุขภาพกายและจิตตามหลักพระพุทธศาสนานิกายวัชรยาน
. เพื่อวิเคราะห์กระบวนการและผลลัพธ์การฟื้นฟูและรักษาความสมดุลสุขภาพกายและจิตตามหลักพระพุทธศาสนานิกายวัชรยาน โดยเป็นการศึกษาเชิงวิเคราะห์เอกสาร (Documentary Research) และการเก็บข้อมูลภาคสนามโดยการสำรวจหาหลักฐานการฟื้นฟูและรักษาความสมดุลสุขภาพกายและจิต ในชุมชนทิเบตเมืองธรรมศาลา รัฐหิมาจัล ประเทศอินเดีย

ผลการศึกษาพบว่า การฟื้นฟูและรักษาความสมดุลสุขภาพกายและจิตในตะวันออกและตะวันตกมีพัฒนาการมาจากการแพทย์แผนโบราณของชนเผ่า โดยมีการใช้สมุนไพรควบคู่การบูชา
เทพเจ้าตามความเชื่อทางศาสนาและวัฒนธรรมประเพณี และได้พัฒนาวิทยาการทางการแพทย์และเภสัชอย่างต่อเนื่อง โดยทางตะวันออกพัฒนาเป็นศาสตร์อายุรเวท การแพทย์แผนจีน และการแพทย์เชิงพุทธ ทางตะวันตกได้พัฒนาเป็นการแพทย์สมัยใหม่  ในกระบวนการฟื้นฟูและรักษาความสมดุลสุขภาพกายและจิตตามหลักพระพุทธศาสนา นิกายวัชรยาน แพทย์ทิเบตจะทำการเยียวยาตาม
พระโพธิสัตว์มรรค ซึ่งแบ่งกระบวนการออกเป็น ๒ แบบคือ กระบวนการรักษาความสมดุลสุขภาพกายและจิต ตามหลักพระพุทธศาสนา นิกายวัชรยาน เพื่อสุขภาพที่ดี และกระบวนการฟื้นฟูความสมดุลสุขภาพกายและจิต ตามหลักพระพุทธศาสนา นิกายวัชรยาน ใน
ภาวะเจ็บป่วย

กระบวนการแรก เป็นการให้คำแนะนำด้าน อาหาร พฤติกรรมในการใช้ชีวิต แก่ผู้ที่มีภาวะสุขภาพปกติ และกระบวนหลัจะเป็นการฟื้นฟูความสมดุลระดับตรีธาตุในร่างกายและจิตใจของผู้ป่วย ในด้านอาหาร พฤติกรรมการใช้ชีวิต การใช้ยาสมุนไพร และการรักษาแบบอื่น ผลลัพธ์ที่เกิดจากกระบวนการทั้งสองแบบ จะส่งผลต่อ ๓ ด้านคือ ๑. มีร่างกายที่ไม่เจ็บป่วย หรือหายป่วยจากโรค และมีสุขภาพที่ดีทั้งทางกายและใจ ๒. มีอายุยืนยาว และ ๓. ชีวิตมีความสุขสงบ เมื่อวิเคราะห์กระบวนการและผลลัพธ์การฟื้นฟูและรักษาความสมดุลสุขภาพกายและจิตตามหลักพระพุทธศาสนา นิกายวัชรยาน พบว่า มีทั้งความเหมือนและความแตกต่างกับการดูแลสุขภาพในระบบการแพทย์สมัยใหม่ ในความเหมือนทางกระบวนการนั้น พบว่า มี ๒ หัวข้อ ที่เหมือนกัน คือ ๑) กระบวนการของการแพทย์ทั้งสองระบบ มีขั้นตอนทั้งหมด ๔ ขั้นตอน ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับขั้นตอนในหลักอริยสัจ ๔ ได้แก่ การตรวจโรค การหาสาเหตุของโรค ภาวะที่หายจากโรค การรักษาด้วยยาและการบำบัดโรค๒) องค์ประกอบของการดูแลสุขภาพ ประกอบด้าน ๔ ด้านคือ การส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การรักษาโรค และการฟื้นฟูสมรรถภาพของร่างกาย

ความแตกต่างทางกระบวนการนั้นพบว่า มีความแตกต่างใน หัวข้อคือ ๑) แพทย์ทิเบตทำการตรวจรักษาโรคด้วยตนเอง ไม่ได้พึ่งพาอุปกรณ์ทางการแพทย์ เทคโนโลยี หรือทีม
สหวิชาชีพ  ๒) ในการรักษาโรคมีการใช้ความรัก เมตตา และการปฏิบัติธรรมมาเยียวยาผู้ป่วยอย่างครบองค์รวม ด้านผลลัพธ์ของการดูแลสุขภาพพบว่า มีความเหมือนใน ๒ หัวข้อ คือ ๑) การแพทย์ทั้งสองระบบได้มีการตั้งผลลัพธ์ทางสุขภาพในเรื่อง สุขภาพที่ดี มีอายุยืนยาว และความผาสุก ๒) มิติของผลลัพธ์สุขภาพเกิดขึ้นในระดับบุคคล ครอบครัวและชุมชน สังคม ประเทศชาติและสากลโลก ในความแตกต่างทางผลลัพธ์ พบว่า ในการแพทย์แผนทิเบตผลลัพธ์ทั้งสามด้านจะเกิดขึ้นอย่างเชื่อมโยงกันและกัน ทั้งในคนไข้และแพทย์ผู้รักษาด้วยเป็นการสร้างพลังแห่งการเยียวยาภายในตัว ต่างจากระบบการแพทย์สมัยใหม่ที่เน้นการรักษาที่ตอบสนองความต้องการทางกายภาพของคนไข้ โดยนำเทคโนโลยี อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทันสมัยมาใช้ตามการรักษาแบบผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง

ข้อเสนอแนะ  ควรนำหลักการปฏิบัติของ นิกายวัชรยาน มาประยุกต์ใช้ในการดูแลกลุ่มผู้ป่วยที่มีความทุกข์ทรมานจากโรค เช่น โรคมะเร็ง ระยะสุดท้าย และควรสนับสนุนเป็นนโยบายทางการดูแลสุขภาพของชาติในรูปแบบเชิงบูรณาการที่มุ่งเน้นการสร้างค่านิยมและความตระหนักในความสมดุลทางสุขภาพที่เริ่มจากครอบครัว ให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน

 

Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕