หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » นางนรีวัลคุ์ ธรรมนิมิตโชค
 
เข้าชม : ๑๙๙๙๘ ครั้ง
ศึกษารูปแบบของวัดที่เหมาะสมกับการเป็นแหล่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต(๒๕๕๐)
ชื่อผู้วิจัย : นางนรีวัลคุ์ ธรรมนิมิตโชค ข้อมูลวันที่ : ๒๘/๐๗/๒๐๑๐
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระสุธีวรญาณ (ณรงค์ จิตฺตโสภโณ)
  นายรังษี สุทนต์
  นางพิศมัย แพ่งนุเคราะห์
วันสำเร็จการศึกษา : ๑๙ กันยายน ๒๕๕๐
 
บทคัดย่อ

    การวิจัยเรื่อง การศึกษารูปแบบของวัดที่เหมาะสมกับการเป็นแหล่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตมี
วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาแนวคิดทฤษฎีความเป็นมาของวัดในสมัยพุทธกาลและวัดดีเด่นในปัจจุบัน
และเพื่อศึกษารูปแบบที่เหมาะสมของวัดเพื่อเป็นแหล่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต ภายใต้กรอบแนวคิด
เรื่องการบริหาร การจัดการความรู้ และแนวคิดด้านการเรียนรู้
การดำเนินการวิจัย ใช้การวิจัยภาคเอกสาร (Documentary Research) และการวิจัย
เชิงสำรวจ (Survey Research) กลุ่มประชากรคือ พระภิกษุสามเณร ประชาชน เด็กและเยาวชน
จำนวน ๕๖๖ รูป / คน จากวัดกรณีศึกษา ๓ วัดในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล คือ วัด
ราชโอรสาราม วัดโสมนัสวิหาร และวัดปัญญานันทาราม โดยเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง
(Purposive Sampling) การเก็บข้อมูลใช้แบบสัมภาษณ์และแบบสอบถามความคิดเห็น ประมวลผล
โดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป SPSS ในส่วนของข้อมูลทั่วไปนำเสนอด้วยค่าร้อยละ แบบสอบถามความ
คิดเห็นใช้ค่าไคสแควร์ เพื่อวิเคราะห์ความแตกต่างด้านความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่าง ภายใต้กรอบ
การดำเนินการด้านนโยบาย ด้านคุณลักษณะของพระภิกษุสามเณรในวัด ด้านสถานที่ สิ่งอำนวย
ความสะดวก และด้านกิจกรรมการเรียนรู้
ผลการวิจัยได้ข้อสรุปว่า แนวคิดทฤษฎีในการจัดวัดให้เป็นแหล่งการเรียนรู้สมัยพุทธกาล
และวัดดีเด่นในปัจจุบัน คือ การสร้างบุคคลที่มีความพร้อมสามารถเป็นกัลยาณมิตรเป็นปัจจัยแรกที่
มีความสำคัญอันจะนำไปสู่การจัดเตรียมปรโตโฆสะ เพื่อให้ผู้เรียนเกิดโยนิโสมนสิการ จนเข้าสู่
กระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่สามารถพัฒนาตนไปสู่การเป็นกัลยาณมิตรต่อตนเอง และผู้อื่นได้ใน
ที่สุด โดยในสมัยพุทธกาลพระพุทธเจ้าทรงใช้หลักธรรมวินัย และพุทธวิธีการบริหารดูแลสังคมสงฆ์
ในอารามให้มีความสัปปายะทั้ง ๔ ด้าน คือ เสนาสัปปายะ บุคคลสัปปายะ อาหารสัปปายะ และ
ธัมมสัปปายะ ส่วนวัดดีเด่นในปัจจุบัน ยังคงใช้หลักธรรมวินัยเป็นเครื่องกำกับดูแลการพัฒนาตน
ของพระภิกษุสามเณร ร่วมกับพระราชบัญญัติคณะสงฆ์และกฎมหาเถรสมาคม โดยมีเจ้าอาวาสวัด
เป็นผู้นำในการกำหนดนโยบาย สร้างจิตสำนึกให้เกิดความร่วมมือในการจัดสถานที่และกิจกรรม
จากการวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติพบว่า
๑. ด้านนโยบาย วัดควรมีนโยบายในการปรับปรุงอาคารสถานที่จัดกิจกรรมการเรียนรู้
ที่หลากหลายและเหมาะสมสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาด้านศีล สมาธิ และปัญญา รวมทั้งต้อง
มีแผนพัฒนาบุคลากรให้มีศักยภาพ สร้างเครือข่ายของวัดเพื่อแลกเปลี่ยนพระวิทยากรและสื่อการ
เรียนรู้ จัดวัดให้เป็นศูนย์แลกเปลี่ยนเรียนรู้ของชุมชน จัดทำปฏิทินกิจกรรมประจำปีของวัด ด้าน
เนื้อหาหลักธรรมที่นำมาใช้สอน ควรปรับปรุงให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้
๒. ด้านคุณลักษณะของพระภิกษุสามเณร ต้องประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดี มีความรู้
ทั้งทางโลกและทางธรรม มีทักษะในการจัดกิจกรรมให้สอดคล้องกับบุคคลและกาลเทศะ
๓. ด้านสถานที่และสิ่งอำนวยความสะดวก สถานที่ควรร่มรื่น สะอาด และสงบ
มีห้องน้ำสะอาดและเพียงพอ มีป้ายหัวข้อธรรมะข้อคิดที่เป็นประโยชน์ จัดพื้นที่ให้ผู้เข้ามาใช้
บริการมีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องธรรมะ และควรมีห้องสมุดประจำวัดเพื่อให้ผู้สนใจได้ค้นคว้า
๔. ด้านกิจกรรมการเรียนรู้ ควรเพิ่มกิจกรรมการเจริญวิปัสสนากรรมฐานสำหรับ
ประชาชน มีกิจกรรมพระสงฆ์ให้คำปรึกษาแก่ประชาชน เชิญวิทยากรภายนอกเข้าร่วม
กิจกรรมทางศาสนา การสวดมนต์แปลเพื่อให้เข้าใจความหมายของบทสวดมนต์ ควรเปิดโอกาส
ให้พระภิกษุสามเณรเลือกเรียนรู้ทั้งทางโลกและทางธรรมไปพร้อมกัน รวมทั้งจัดถวายความรู้แด่
พระสงฆ์ด้านการเผยแผ่ที่เหมาะสมกับสังคมไทย การพูดในที่ชุมชน กฎหมายที่พระสงฆ์ควรทราบ
และการจัดทำเวบไซด์ประจำวัด
ผลการวิเคราะห์แสดงให้เห็นว่า รูปแบบของวัดที่เหมาะสมกับการเป็นแหล่งการเรียนรู้
ตลอดชีวิต จำเป็นต้องใช้การจัดการความรู้ (Knowledge Management) เข้ามามีส่วนใน
กระบวนการสร้างรูปแบบของวัดให้เป็นไปตามความต้องการของพุทธบริษัทแต่ละกลุ่ม วัดต้องมี
ลักษณะการวางแผนด้านนโยบายที่ชัดเจนแน่นอน เพื่อจัดกิจกรรมพัฒนาคุณภาพของพระภิกษุ
สามเณรให้เป็นผู้ที่มีคุณสมบัติพร้อมที่จะเป็นกัลยาณมิตร ก้าวทันโลกในยุคปัจจุบันโดยไม่ทิ้ง
สมณสารูปและสมณสัญญา รวมทั้งการปรับปรุงสถานที่จัดกิจกรรม และข้อเสนอแนะต่าง ๆ ที่ได้
รวบรวมมา สิ่งเหล่านี้ถือได้ว่าเป็นเครื่องชี้ถึงความต้องการของผู้ใช้บริการที่วัดจะต้องใช้เป็น
จุดเริ่มต้นในการปรับปรุงกระบวนการดำเนินงาน ตลอดจนใช้เป็นแนวสำหรับกำหนดทิศทางใน
การจัดวัดให้เป็นแหล่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่เหมาะสมของพุทธบริษัท ทั้งนี้ เพื่อความมีส่วนร่วม
ในการเป็นเจ้าของแหล่งการเรียนรู้อย่างแท้จริง อันจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อวัด และสังคมโดยรวม
อย่างยั่งยืน
Download :  255109.pdf
 

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕