หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระครูอรัญชัยธัช (ธวัชชัย ธนวํโส)
 
เข้าชม : ๑๙๙๘๙ ครั้ง
บทบาทของพระนางจามเทวีในการสร้างความมั่นคงทางพระพุทธศาสนาในจังหวัดลำพูน
ชื่อผู้วิจัย : พระครูอรัญชัยธัช (ธวัชชัย ธนวํโส) ข้อมูลวันที่ : ๐๘/๐๔/๒๐๑๙
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  ปกรณ์ มหากันธา
  พระมหาอินทร์วงศ์ อิสฺสรภาณี
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๘ มีนาคม ๒๕๖๒
 
บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์เรื่อง บทบาทของพระนางจามเทวีในการสร้างความมั่นคงทางพระพุทธศาสนาในจังหวัดลำพูน มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ ดังนี้ ๑. เพื่อศึกษาแนวคิดการสร้างความมั่นคงทางพระพุทธศาสนา ๒. เพื่อศึกษาบทบาทของพระนางจามเทวีในฐานะบุคคลต้นแบบทางพระพุทธศาสนา และ ๓. เพื่อวิเคราะห์บทบาทของพระนางจามเทวีในการสร้างความมั่นคงทางพระพุทธศาสนาในจังหวัดลำพูน การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ด้วยการวิเคราะห์เอกสาร และการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก (In-depth interview) จากผู้ทรงคุณวุฒิฝ่ายบรรพชิต คฤหัสถ์  จำนวน ๑๖ รูป/คน

 

          ผลการศึกษา แนวคิดเกี่ยวกับการสร้างความมั่นคงทางพระพุทธศาสนา พบว่า การสร้างความมั่นคงทางพระพุทธศาสนามีพัฒนาการมาตั้งแต่ครั้งสมัยพุทธกาล ซึ่งแต่ละช่วงเวลาได้เกิดเหตุการณ์ที่เป็นภาวะคุกคามและเป็นภัยต่อพระพุทธศาสนาหลายรูปแบบ ทั้งภัยคุกคามจากภายในและภัยคุกคามจากภายนอก แต่ผู้นำฝ่ายศาสนจักรและอาณาจักร ก็ได้ร่วมมือกันในการประคับประครองแก้ไขปัญหาต่างๆให้ผ่านพ้นมาได้ โดยเป้าหมายหลักสำคัญของการสร้างความมั่นทางพระพุทธศาสนา คือ การธำรงรักษาพระธรรมวินัยซึ่งเป็นพุทธพจน์คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าและการสืบต่ออายุพระพุทธศาสนาให้คงอยู่เป็นมรดกธรรมสำหรับการดำรงชีวิตของมวลมนุษยชาติ                   ซึ่งมีตัวอย่างของอุบาสกอุบาสิกาที่มีส่วนสร้างความมั่นคงทางพระพุทธศาสนาในสมัยพุทธกาล เช่น     สุทัตตอนาถบิณฑิกคหบดี จิตตคฤหบดี นางสุชาดา เป็นต้น

 

             ผลการศึกษา บทบาทของพระนางจามเทวีในฐานะบุคคลต้นแบบทางพระพุทธศาสนา  พบว่า พระนางจามเทวี เป็นบุคคลที่ได้ประพฤติปฏิบัติตนให้เป็นแบบอย่างที่ดีงามแก่คนและสังคม โดยได้น้อมนำหลักพุทธธรรมเป็นเครื่องยืดเหนี่ยวนำทางและถือเป็นบุคคลต้นแบบทางพระพุทธศาสนา คือ ต้นแบบในฐานะอุบาสิกาในพระพุทธศาสนา พระนางได้ปฏิบัติตนและส่งเสริมให้ประชาชนได้ปฏิบัติตามหลักของหน้าที่ชาวพุทธและดำเนินชีวิตตามหลักเบญจศีลเบญจธรรมอย่างเคร่งครัด ต้นแบบฐานะกษัตริยาในพระพุทธศาสนา พระนางได้ใช้หลักธรรมสำคัญทางพระพุทธศาสนา เช่น หลักทศพิธราชธรรม ๑๐  หลักจักรวรรดิวัตร ๑๒ และหลักราชสังคหวัตถุ ๔ เป็นหลักธรรมในการปกครองบ้านเมืองและประชาชนให้เกิดความสุขสงบและร่มเย็น ต้นแบบฐานะมารดา ภรรยา และบุตรธิดาในพระพุทธศาสนา พระนางได้ใช้หลักทิศ ๖ ในการปฏิบัติต่อบุคคลที่เกี่ยวข้อง ซึ่งถือเป็นหลักปฏิบัติที่สร้างความสมดุลและความสุขในครอบครัว

 

                  ผลการศึกษา วิเคราะห์บทบาทของพระนางจามเทวีในการสร้างความมั่นคงทางพระพุทธศาสนาในจังหวัดลำพูน พบว่า พระนางจามเทวีได้มีคุณูปการและมีส่วนสำคัญในการสร้างความมั่นคงทางพระพุทธศาสนาในจังหวัดลำพูน คือ ด้านศาสนธรรม พระนางได้นำพระสงฆ์ผู้ทรงพระไตรปิฎกให้มาประจำอยู่ในนครหริภุญชัย ทรงเป็นแบบอย่างการปฏิบัติและส่งเสริมการดำเนินชีวิตตามหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาอย่างเคร่งครัด  ด้านศาสนบุคคล พระนางได้ให้ความสำคัญต่อพระสงฆ์ พระราชโอรส ด้วยการส่งเสริมให้ศึกษาเล่าเรียน ให้โอกาสในการไปปฏิบัติศาสนกิจและปกครองตามพื้นที่ต่างๆ และส่งเสริมพัฒนาให้ประชาชนได้ปฏิบัติธรรมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดี ด้านศาสนสถาน พระนางได้เป็นผู้สร้างและสนับสนุนให้ข้าราชบริพาร ประชาชนได้มีส่วนในการสร้างวัดในพื้นที่จังหวัดลำพูนจำนวนมาก และกลายเป็นแหล่งโบราณสถานสำคัญที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และการท่องเที่ยวของจังหวัดลำพูน  ด้านศาสนวัตถุ พระนางได้มีส่วนสำคัญในการสร้างพระสกุลลำพูน เป็นการส่งเสริมพุทธศิลป์และน้อมรำลึกเป็นพุทธานุสสติ และ ด้านศาสนพิธี    พระนางได้เป็นผู้วางรากฐานในการอนุรักษ์ศาสนพิธีดั้งเดิมและสืบทอดจนถึงปัจจุบัน เช่น                 การบวงสรวงเทวดา พิธีรดน้ำหัว และพิธีสืบชาตา เป็นต้น

Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕