หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » อาภรทิพย์ สมบัติบริบูรณ์
 
เข้าชม : ๑๙๙๙๕ ครั้ง
แนวโน้มการจัดการศึกษาพุทธจิตวิทยา: กรณีศึกษาศักยภาพจิตอนาคต (สาขาวิชาพุทธจิตวิทยา)
ชื่อผู้วิจัย : อาภรทิพย์ สมบัติบริบูรณ์ ข้อมูลวันที่ : ๒๕/๐๓/๒๐๑๙
ปริญญา : พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  สิริวัฒน์ ศรีเครือดง
  ชัยสิทธิ์ ทองบริสุทธิ์
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๑๗ มีนาคม ๒๕๖๒
 
บทคัดย่อ

           ดุษฎีนิพนธ์เรื่อง แนวโน้มการจัดการศึกษาพุทธจิตวิทยา: กรณีศึกษาศักยภาพจิตอนาคต มีวัตถุประสงค์ คือ ๑)  เพื่อศึกษาแนวคิดการจัดการศึกษาพุทธจิตวิทยา  ๒)  เพื่อศึกษาการจัดการศึกษาพุทธจิตวิทยา  และ ๓)  เพื่อนำเสนอแนวโน้มการจัดการศึกษาพุทธจิตวิทยา: กรณีศึกษาศักยภาพจิตอนาคต โดยมีรูปแบบเป็นการศึกษาวิเคราะห์เอกสาร (Documentary Research)  และวิจัยอนาคต (Futures Research) ใช้เครื่องมือเทคนิคเดลฟาย (Delphi Technique) ทำการวิเคราะห์และสังเคราะห์ แนวโน้มการจัดการศึกษาพุทธจิตวิทยา: กรณีศึกษาศักยภาพจิตอนาคต โดยผู้เชี่ยวชาญ  จำนวน ๑๗ รูป/คน  วิเคราะห์ข้อมูลด้วยคอมพิวเตอร์  โดยใช้สถิติ   ค่ามัธยฐาน    และค่าพิสัยควอไทล์

             ผลการศึกษาวิจัย พบว่าแนวคิดที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาพุทธจิตวิทยา ควรประกอบด้วย    ๑) แนวคิดทางพุทธจิตวิทยา พบว่า ควรมีการจัดการศึกษาในหมวดรายวิชาจิตในพระอภิธรรม หมวดรายวิชาชีวิตตามหลักพุทธธรรม เพื่อความเข้าใจในความเป็นจริงของชีวิต และมีการศึกษาจิตวิทยาตะวันตกที่มุ่งเน้นทฤษฎีมนุษยนิยม เพื่อศึกษาในความแตกต่างของมนุษย์ ๒) แนวคิดในการจัดการศึกษา พบว่า ในการจัดการศึกษา โดยทั่วไปยึดหลักปรัชญาการศึกษา และทฤษฎีการศึกษา โดยเฉพาะทฤษฎีหลักสูตร เพื่อให้เป็นไปตามจุดมุ่งหมายในการจัดการศึกษา  ส่วนแนวคิดเกี่ยวกับการจัดการศึกษาในอนาคต พบว่า แนวคิดเกี่ยวกับศักยภาพจิตอนาคต ๕ ประการ มีความเหมาะสมในการจัดการศึกษาพุทธจิตวิทยา โดยเฉพาะยุคในปัจจุบันที่เป็นยุคของการศึกษาในศตวรรษที่ ๒๑

 
              แนวโน้มการจัดการศึกษาพุทธจิตวิทยา ควรเสริมสร้างศักยภาพจิตอนาคต ๕ ประการ ดังต่อไปนี้  ๑) จิตแห่งวิทยาการ  ควรนำหลักไตรสิกขาเข้ามาบูรณาการให้เข้ากับหลักการเรียนรู้ทางจิตวิทยา ด้วยกระบวนการที่เอื้อต่อความเข้าใจ สามารถเข้าถึงและพัฒนาคุณภาพชีวิตได้ ๒) จิตแห่งการสังเคราะห์ ควรนำหลักธรรมโยนิโสมนสิการมาใช้ เพื่อต่อยอดเป็นองค์ความรู้ใหม่อันจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อการศึกษาและสังคม  ๓) จิตแห่งการสร้างสรรค์  ควรนำหลักธรรมในการพัฒนาระดับของปัญญา ๓ ขั้น คือ สุตตมยปัญญา จิตตมยปัญญา และภาวนามยปัญญา มาเป็นฐานความรู้สหวิชาผ่านกระบวนการทดลองเชิงวิทยาศาสตร์ เพื่อยืนยันในสิ่งที่ได้ค้นพบใหม่  ๔)  จิตแห่งความเคารพ ควรนำหลักธรรมพรหมวิหาร ๔ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา มาใช้ในการเคารพความคิดของผู้อื่น ควรพัฒนาการเรียนรู้อย่างเข้าใจตามหลักกัลยาณมิตร และเสริมสร้างด้วยหลักสาราณียธรรม  เพื่อความเข้าใจสิ่งที่ถูกต้องในการอยู่ร่วมกัน
เกิดเป็นสัมพันธภาพที่ดีในสังคม  ๕) จิตแห่งจริยธรรม ควรนำหลักธรรมสติปัฎฐาน ๔  มาใช้ในการพัฒนาคุณภาพแห่งจิต ตามหลักสุขภาวะองค์รวม หรือใช้หลักธรรมภาวนา ๔ เพื่อเอื้อต่อการเข้าสู่สภาวธรรมในขั้นสูงต่อไป

Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕