หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหาเชาวฤทธิ์ นรินฺโท (ทรัพย์สวัสดิ์)
 
เข้าชม : ๑๙๙๘๖ ครั้ง
การศึกษาแนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุตามหลักภาวนา ๔ : กรณีศึกษาผู้สูงอายุบ้านห้วยหอย ตำบลธาตุทอง อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ
ชื่อผู้วิจัย : พระมหาเชาวฤทธิ์ นรินฺโท (ทรัพย์สวัสดิ์) ข้อมูลวันที่ : ๐๒/๐๔/๒๐๑๙
ปริญญา : พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหามิตร ฐิตปญฺโญ
  พระครูสุธีคัมภีรญาณ
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒
 
บทคัดย่อ

ดุษฎีนิพนธ์เรื่องนี้ มีวัตถุประสงค์ คือ (๑) เพื่อศึกษาหลักภาวนา ๔ ในพระพุทธศาสนา (๒) เพื่อศึกษาบริบทวิถีการดำเนินชีวิตของผู้สูงอายุบ้านห้วยหอย ตำบลธาตุทอง อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ  (๓) เพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนาชีวิตผู้สูงอายุบ้านห้วยหอย ตำบลธาตุทอง อำเภอภูเขียว  จังหวัดชัยภูมิ  ตามหลักภาวานา ๔ การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ผู้วิจัยเลือกใช้วิธีการสัมภาษณ์และการสังเกตการณ์แบบมีส่วนร่วม กลุ่มเป้าหมายผู้ให้ข้อมูลการวิจัยในครั้งนี้ คือ ผู้สูงอายุบ้านห้วยหอย จำนวน ๓๐ คน โดยแบ่งกลุ่มตัวอย่างออกเป็น ๓ กลุ่ม ได้แก่ ๑) กลุ่มผู้สูงอายุที่มีบทบาทด้านผู้นำทางศาสนา จำนวน ๑๐ คน ๒) กลุ่มผู้สูงอายุที่เป็นอุบาสกอุบาสิกา จำนวน ๑๐ คน  ๓) กลุ่มผู้สูงอายุที่เป็นคณะกรรมการบริหารชุมชน จำนวน ๑๐ คน แล้วนำข้อมูลที่ได้จากการลงพื้นที่ภาคสนามมาเขียนวิเคราะห์เชิงพรรณนาความ 

             ผลการวิจัย พบว่า หลักภาวนา ๔ ในพระพุทธศาสนา เป็นหลักการพัฒนาบุคคลโดยมีกรอบแห่งการพัฒนา ๔ ประการ คือ การพัฒนาตนเองให้มีสติตั้งอยู่ในความไม่ประมาท การทำตนให้ตั้งอยู่ในกรอบระเบียบข้อประพฤติที่ดีงามของสังคม การอบรมจิตของตนให้มีความผ่องใส การพัฒนาปัญญา ให้เป็นผู้มีเหตุมีผล หลักภาวนา ๔ นี้เป็นหลักการพัฒนาตนเองในการดำเนินชีวิตประจำวันและการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีความสุข  

บริบทวิถีการดำเนินชีวิตของผู้สูงอายุบ้านห้วยหอย พบว่า ผู้สูงอายุชาวบ้านห้วยหอยส่วนใหญ่เป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนา เข้าวัดทำบุญ รักษาศีล ๕ ศีลอุโบสถในเทศกาลเข้าพรรษาและชอบการปฏิบัติธรรม การฝึกอบรมตนเองในทางที่เป็นคุณมิให้เกิดโทษ ให้กุศลธรรมงอกงาม สร้างความสัมพันธ์ที่ดีทางสังคม  การรู้จักประมาณตน การใช้ชีวิตให้ผาสุก มีสุขภาวะที่ดี  ผู้สูงอายุปฏิบัติตนตามหลักศีลธรรมในพระพุทธศาสนาและการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างมีความสุข ปัญหาอุปสรรคการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ ได้แก่ ๑) การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจยุคใหม่ ๒) การเข้ามาของวัฒนธรรมสมัยใหม่ ซึ่งผู้สูงอายุต้องมีการปรับการดำเนินชีวิตของตนเองในการดำเนินชีวิตประจำวันเพื่อให้มีความสมดุลและความสอดคล้องกับการดำเนินชีวิตในประจำวัน ๓) ด้านโรคภัยไข้เจ็บที่เกิดจากความชราภาพของร่างกาย ทำให้เป็นปัญหาและอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิตของผู้สูงอายุอยู่มากและมีผลต่อการประกอบกิจวัตรประจำวัน 

แนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุนั้น พบว่า ด้านกายภาวนา ผู้สูงอายุได้ฝึกพัฒนาสติในการดำเนินชีวิตของตนเอง ฝึกการอยู่ง่ายกินง่าย ฝึกการมีสติในการดำเนินชีวิตประจำวัน ด้านสีลภาวนา ผู้สูงอายุได้พัฒนาตนเองด้วยการไม่เบียดเบียนผู้อื่น การไม่ลักขโมย การสำรวมอินทรีย์ การพูดสุภาพ การมีสัจจะ การไม่คิดโลภอยากได้ของการคนอื่น การไม่คิดพยาบาทในบุคคลอื่นและการมีความคิดที่ดีและไม่คิดมุ่งร้ายต่อสิ่งอื่น ผู้สูงอายุปฏิบัติตนอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างมีความสุข ด้านจิตภาวนา ผู้สูงอายุฝึกพัฒนาจิตใจของตนเองด้วยการไหว้พระ การสวดมนต์ภาวนาและการนั่งสมาธิ ฝึกพัฒนาจิตใจและการทำจิตใจของตนให้มีความสุขในชีวิตประจำวัน ด้านปัญญาภาวนา ผู้สูงอายุใช้ปัญญาคิดในสิ่งที่มีเหตุและผล มีความรู้สึกตัวขณะคิด ขณะพูด ขณะทำ การใช้ปัญญาในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ และผู้สูงอายุนำหลักการพัฒนาตนเองตามหลักภาวนา ๔ มาใช้ในชีวิตประจำวันของตนเองได้อย่างมีความสุข

Download

 

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕