หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระอารดินทร์ เขมธมฺโม ( รัตนภู)
 
เข้าชม : ๒๐๐๑๑ ครั้ง
การศึกษามโนทัศน์เรื่องความตายของกฤษณมูรติ(๒๕๕๐)
ชื่อผู้วิจัย : พระอารดินทร์ เขมธมฺโม ( รัตนภู) ข้อมูลวันที่ : ๒๔/๐๗/๒๐๑๐
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(ปรัชญา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหากฤษณะ ตรุโณ
  ดร. วีรชาติ นิ่มอนงค์
  ดร. วีรชาติ นิ่มอนงค์
วันสำเร็จการศึกษา : ๙ / เม.ย. / ๒๕๕๐
 
บทคัดย่อ

 การศึกษามโนทัศน์เรื่องความตายในทัศนะของกฤษณมูรติ มีจุดประสงค์หลักอยู่ที่

การศึกษาแนวคิดเรื่องความตายในส่วนความหมายของความตาย ท่าทีต่อความตาย วิถีสู่การเข้า
ใจความตาย ตลอดจนคุณค่าของความตายที่มีต่อชีวิต และความสัมพันธ์ของความตายที่มีต่อ
ปรากฏการณ์ทั้งระดับปัจเจกบุคคลและระดับสังคม โดยต้องเข้าใจแนวคิดพื้นฐานของเขาเป็น
เบื้องต้น อันได้แก่ แนวคิดเรื่องความจริง ญาณวิทยา และปรัชญาชีวิตมนุษย์
ผลของการศึกษาทำให้ทราบว่า แนวความคิดของกฤษณมูรติเรื่องความตายมีทัศนะ
ที่ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดเรื่องความตายของปรัชญากระแสหลัก ที่ทำให้เป็นบทสรุปตายตัวขึ้นมา
โดยสสารนิยมเชื่อว่าความหมายของความตายอยู่ที่การยุติกระบวนการทางกายภาพเท่านั้น ทำให้
ความตายมีความหมายที่คับแคบเป็นเหตุให้ปฏิเสธความตาย ขณะที่จิตนิยมเชื่อว่าความหมายของ
ความตายอยู่ที่เป็นทางผ่านของสารัตถะทางนามธรรม(วิญญาณ) ทำให้ความตายมีความหมายเป็น
เพียงเครื่องมือของสารัตถะที่ห่างไกลจากชีวิตจริง และพุทธปรัชญาเถรวาทแม้จะปฏิเสธสารัตถะ
ทางนามธรรมแต่ก็มีความเชื่อเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด ซึ่งกฤษณมูรติไม่เห็นด้วยกับความเชื่อทุก
รูปแบบที่เกี่ยวกับความสืบเนื่องหลังความตาย เพราะเขาเห็นว่าเป็นเพียงรูปแบบของความคิดที่
ปรารถนาความสืบเนื่องของตัวตนที่ความคิดสร้างขึ้น โดยแท้ที่จริงแล้วมนุษย์ไม่ได้กลัวความตาย
แต่กลัวความสืบเนื่องที่ความคิดสร้างขึ้นจะยุติลง
กฤษณมูรติชี้ให้เห็นว่าความตายเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่อาจอธิบาย ความตายจึงเป็น “สิ่ง
ไม่รู้” ต่อการนิยามให้ความหมายที่ตายตัว ซึ่งหมายถึงสิ่งไม่อาจรู้ด้วยความคิดหรือมโนคติ
อีกแง่หนึ่งความตายหมายถึง “สิ่งใหม่”ในแง่ของการรับรู้ด้วยประสบการณ์ตรงในปัจจุบันขณะ
เท่านั้น เพราะมีแต่ปัจจุบันขณะเท่านั้นที่มีความใหม่อยู่ตลอดเวลา เป็นภาวะไร้ความสืบเนื่องและ

ลิขสิทธิ์เป็นของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
สิ้นสุดสภาพอิทธิพลกำ หนดของความคิดที่ปรารถนาจะสืบต่อประสบการณ์แห่งตัวตน
ความหมายของความตายจึงอยู่ในฐานะการมีชีวิตอยู่กับปัจจุบันขณะ ด้วยเหตุนี้ความหมายของ
ความตายจึงเป็นสิ่งเดียวกับความหมายของชีวิต
เนื่องจากความตายมีลักษณะการรับรู้ด้วยประสบการณ์ตรง ไม่มีอิทธิพลกำหนดของ
ความคิดเข้ามาครอบงำ วิถีสู่การเข้าใจความตายจึงมีลักษณะเดียวกันกับวีถีสู่ความจริง คือ การ
ใส่ใจอย่างเต็มเปี่ยม รับรู้ทั้งหมดอย่างทันทีทันใดซึ่งเป็นอาการของปัญญา และตระหนักรู้กับทุก
สิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นโดยไม่มีการเลือกซึ่งเป็นอาการของสมาธิ วิถีทั้งสามมีความเป็นอันหนึ่งอัน
เดียวกัน ดังนั้นความตายจึงสะท้อนให้เห็นถึงสัจจะหรือความจริง สองสิ่งนี้มีความสัมพันธ์อย่าง
เป็นเอกภาพเดียวกัน
การจะมีท่าทีต่อความตายได้ จะต้องมีท่าทีต่อชีวิตอย่างสมบูรณ์ก่อน เพราะทั้งสอง
สิ่งมีความสัมพันธ์ต่อกัน การเป็นอิสระจากอิทธิพลกำหนดโดยความคิคทำให้เกิดท่าทีต่อความตาย
ได้อย่างสมบูรณ์ ก่อให้เกิดการรับรู้ความจริง รับรู้ความรัก เพราะทั้งความตาย ความจริง
และความรัก มีความเป็นเอกภาพดียวกัน ทั้งสามสิ่งเป็นสัจจะภาวะที่ปรากฏอยู่ทุกขณะของชีวิต
ก่อให้เกิดระเบียบอันสมบูรณ์ คือ คุณธรรมและความดีที่เกิดจากการกระทำภายในของปัจเจกบุคคล
แสดงออกมาทางการกระทำในปัจจุบันขณะ เป็นการเรียนรู้ทุกขณะของชีวิตโดยปราศจากการสั่ง
สมประสบการณ์ที่มีตัวตนแฝงอยู่ ซึ่งถือว่าเป็นคุณค่าของความตาย
ความสัมพันธ์ระหว่างความตายกับปรากฏการณ์ของปัจเจกบุคคลย่อมส่งผลต่อ
ปรากฏการณ์ทางสังคม ซึ่งแบ่งได้๒ นัยยะ คือ (๑)ปรากฏการณ์สร้างสรรค์ซึ่งเป็นสภาพไร้ปัญหา
ภายในปัจเจกบุคคล ย่อมก่อให้เกิดสันติสุขที่แท้จริงแก่สังคม และ (๒) ปรากฏการณ์วิกฤตภายใน
เป็นซึ่งสภาพปัญหาภายในปัจเจกบุคคล ซึ่งเป็นเชื้อของความขัดแย้งภายในปัจเจกบุคคลและอาจ
ขยายเป็นความรุนแรงในสังคมต่อไปอนึ่งสาระหลักของพุทธปรัชญาเถรวาท คือ การดับทุกข์โดยสิ้นเชิง ถือเป็นจุดหมายสูงสุดของขีวิต ฉะนั้นสาระหลักในมโนทัศน์เรื่องความตายของกฤษณมูรติจึงมีความสอดคล้องใน
ทิศทางเดียวกันกับสาระหลักของพุทธปรัชญาเถรวาท โดยไม่จำเป็นต้องนำเอาเรื่องความสืบเนื่องหลังความตายมาสร้างความแตกต่าง เพราะทั้งสองฝ่ายมุ่งเสนอให้มนุษย์หลุดพ้นจากพันธนาการทางจิตใจที่สร้างความขัดแย้ง และยุติตัวตนที่ปรารถนาความสืบเนื่องทุกรูปแบบ เพื่อมีชีวิตกับปัจจุบันขณะ คือ อิสรภาพทางจิตใจอย่างแท้จริงลิขสิทธิ์เป็นของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕