หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหานันทวิทย์ ธีรภทฺโท (แก้วบุตรดี)
 
เข้าชม : ๑๙๙๘๓ ครั้ง
การจัดการเรียนรู้สู่ความพอเพียงตามหลักพุทธจิตวิทยาสำหรับนักเรียนช่วงชั้นที่ ๔ (สาขาวิชาพุทธจิตวิทยา)
ชื่อผู้วิจัย : พระมหานันทวิทย์ ธีรภทฺโท (แก้วบุตรดี) ข้อมูลวันที่ : ๑๕/๐๓/๒๐๑๙
ปริญญา : พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  กมลาศ ภูวชนาธิพงศ์
  สิริวัฒน์ ศรีเครือดง
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๑๖ มกราคม ๒๕๖๒
 
บทคัดย่อ

             การวิจัยเชิงผสมผสานครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ ๑) เพื่อศึกษาแนวคิดการจัดการเรียนรู้และวิธีการดำเนินชีวิตตามแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและแนวคิดการจัดการเรียนรู้ตามหลักพุทธจิตวิทยาสำหรับนักเรียนช่วงชั้นที่ ๔ ๒) เพื่อพัฒนากระบวนการจัดการเรียนรู้สู่ความพอเพียงตามหลักพุทธจิตวิทยา และ ๓) เพื่อเสนอรูปแบบการจัดการเรียนรู้สู่ความพอเพียงตามหลักพุทธจิตวิทยา กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔ โรงเรียนศึกษานารีวิทยา กรุงเทพมหานคร จำนวน ๔๓ คน โดยวิธีการสุ่มกลุ่มตัวอย่างอย่างง่าย

เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย ๑) แบบวัดความรู้ความเข้าใจเบื้องต้น ๒) แบบวัดด้านเจตคติความมีเหตุผลต่อความพอเพียง ๓) แบบวัดพฤติกรรมการสร้างภูมิคุ้มกันในตนเอง ๔) แบบวัดการจัดการเรียนรู้สู่ความพอเพียงตามหลักพุทธจิตวิทยาสำหรับนักเรียนช่วงชั้นที่ ๔ ๕) แบบสังเกตพฤติกรรม และ ๖) แบบสัมภาษณ์ สถิติที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูลได้แก่ ค่าเฉลี่ย ค่าร้อยละ ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และทดสอบสมมุติฐานโดยใช้สถิติการทดสอบความแตกต่างค่าเฉลี่ยก่อนและหลังของกลุ่มตัวอย่างที่ไม่เป็นอิสระจากกัน (Paired-Samples t-test) ในส่วนของข้อมูลเชิงคุณภาพวิเคราะห์ด้วยการจัดกลุ่มข้อมูลตามประเด็นการวิเคราะห์

             ผลการวิจัยพบว่า

๑) แนวคิดการจัดการเรียนรู้ และวิธีการดำเนินชีวิตตามแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและแนวคิดการจัดการเรียนรู้ตามหลักพุทธจิตวิทยาสาหรับนักเรียนช่วงชั้นที่ ๔ ประกอบด้วย การผสานระหว่างทฤษฎีการเรียนรู้ของบลูม หลักธรรมทางพุทธศาสนา ได้แก่ ปรโตโฆสะ โยนิโสมนสิการ สัมมาทิฏฐิ และภาวนา ๔ การจัดการเรียนการสอนในศตวรรษที่ ๒๑ และปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

๒) กระบวนการจัดการเรียนรู้สู่ความพอเพียงด้วยหลักพุทธจิตวิทยา ประกอบด้วย ๕ขั้นตอน ได้แก่  ๑. สร้างศรัทธา (Faith) ๒. เสริมแรงจูงใจ (Inspiration) ๓. ให้สะท้อนจิต (Reflection) ๔. คิดวางแผนโครงการ (Planning) และ ๕. สานสู่ปฏิบัติ (Practice)

๓) ผลการจัดการเรียนรู้สู่ความพอเพียงตามหลักพุทธจิตวิทยา ภายหลังการผ่านกระบวนการจัดการเรียนรู้สู่ความพอเพียงตามหลักพุทธจิตวิทยาสำหรับนักเรียนในช่วงชั้นที่ ๔ มีคะแนนทั้ง ๓ ประเด็นสูงขึ้นกว่าก่อนการผ่านกระบวนการจัดการเรียนรู้ฯอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ได้แก่ ความรู้ความเข้าใจต่อความพอเพียงพอประมาณในการดำเนินชีวิต (t = ๑๖.๔๒๑, p = .๐๐๐) การแสดงเจตคติความมีเหตุผลต่อความพอเพียง (t = ๒.๐๔๕, p = .๐๔๗) และพฤติกรรมที่บ่งถึงการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในตัวเอง (t = ๕.๓๖๗, p = .๐๐)

            ผลการวิจัยสรุปได้ว่า รูปแบบการจัดการเรียนรู้สู่ความพอเพียงตามหลักพุทธจิตวิทยา (FIRPP Model)  ประกอบด้วยกระบวนการ   ขั้นตอนด้วยกัน  ได้แก่  ๑. สร้างศรัทธา (Faith)     ๒. เสริมแรงจูงใจ (Inspiration) ๓. ให้สะท้อนจิต (Reflection) ๔. คิดวางแผนโครงการ (Planning) และ ๕. สานสู่ปฏิบัติ (Practice) เป็นรูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ สามารถส่งเสริมให้นักเรียนช่วงชั้นที่ ๔ น้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ได้ ดังนั้นรูปแบบการจัดการเรียนรู้สู่ความพอเพียงตามหลักพุทธจิตวิทยา (FIRPP Model) ที่ได้พัฒนาขึ้นในงานวิจัยนี้ จึงสามารถนำไปปรับใช้กับนักเรียนในช่วงชั้นที่ ๔ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้สู่ความพอเพียงตามหลักพุทธจิตวิทยา

Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕