หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหาจุลพล สารทสฺสี (พิมภารัตน์)
 
เข้าชม : ๑๙๙๘๖ ครั้ง
วิธีแก้ไขความรุนแรงต่อพระสงฆ์ในคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท
ชื่อผู้วิจัย : พระมหาจุลพล สารทสฺสี (พิมภารัตน์) ข้อมูลวันที่ : ๐๑/๐๓/๒๐๑๙
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  แม่ชีกฤษณา รักษาโฉม
  อรชร ไกรจักร์
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒
 
บทคัดย่อ

                  การศึกษาเรื่อง “วิธีแก้ไขความรุนแรงต่อพระสงฆ์ในคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท”            มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการคือ ๑) เพื่อศึกษาหลักการของพุทธศาสนาที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรง           ๒) เพื่อศึกษาความรุนแรงต่อพระสงฆ์ที่ปรากฏในคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท  ๓) เพื่อศึกษาวิธีแก้ไขความรุนแรงต่อพระสงฆ์ในคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท  วิธีดำเนินการวิจัยในครั้งนี้ เป็นการวิจัยเชิงเอกสาร (Documentary Research)

             ผลการวิจัย พบว่า  ความรุนแรงตามแนวพุทธศาสนา หมายถึง การกระทำ การพูด และการคิด ที่เป็นการกระทบกระทั่งเบียดเบียนต่อตนเองและผู้อื่น ซึ่งมี ๒ ลักษณะ คือ ๑) ความรุนแรงภายนอก หรือ ทางกาย,ทางวาจา  ๑) ความรุนแรงภายในหรือทางใจ ความรุนแรงเหล่านี้เกิดขึ้นตั้งแต่ยุคมนุษย์ต้นกัปและมีพัฒนาการตามลำดับจากความรุนแรงภายในสู่ความรุนแรงภายนอก           ในทางพระวินัย ความรุนแรงที่จัดว่าเป็นความรุนแรงขั้นสูงสุดได้แก่การกระทำที่เป็นการแกล้งต้องคือ จงใจต้องซึ่งมีระดับที่จัดเป็นครุกาบัติชนิด อเตกิจฉาส่วนในทางพระอภิธรรมนั้นระบุว่าความรุนแรงเกิดขึ้นและมีพัฒนาการจากกระบวนการของอกุศลจิต ๑๒ ดวง    

             พระสงฆ์นั้นมีหลักการสำคัญ ๓ หลักการคือ ๑) หลักการเผยแผ่  ๒) หลักการปกครอง    ๓) หลักการดำเนินชีวิต หลักการเหล่านี้หล่อหลอมให้พระสงฆ์มีบุคลิกภาพที่สุขุม รักสงบ และไม่เบียดเบียนใคร  แต่ปรากฏว่าในคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาทได้มีกรณีที่พระสงฆ์ถูกกระทำความรุนแรงใน ๓ ลักษณะ ได้แก่ ๑) ความรุนแรงทางกาย คือ การทำร้ายทุบตี  การฆ่า และการข่มขืนกระทำชำเรา  ๒) ความรุนแรงทางวาจา คือ การกล่าวหาใส่ร้าย การด่าทอ และการดูหมิ่นเหยียดหยาม     ๓) ความรุนแรงทางใจ คือ พยาบาทวิตก และ วิหิงสาวิตก ความรุนแรงเหล่านี้พระสงฆ์จะต้องมีวิธีการในการแก้ไข 

                      ซึ่งในคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาทมีวิธีแก้ไขความรุนแรงต่อพระสงฆ์ใน ๓ ลักษณะนั้น ดังนี้    ๑) ความรุนแรงทางกาย  แก้ไขด้วยการต่อสู้ขัดขืนปัดป้อง แต่ไม่ใช่มุ่งทำร้ายด้วยความพยาบาท          การหลีกเลี่ยงการปะทะหรือการหลบหนีจากอันตราย  การอดทนไม่ทำร้ายตอบ  การเจริญเมตตาในผู้ทำร้าย และการพิจารณาความไม่เที่ยงของเวทนา  ๒) ความรุนแรงทางวาจา  แก้ไขด้วยการไม่ตอบโต้ด้วยคำที่รุนแรง การชี้แจงด้วยเหตุผล การเจริญเมตตาในผู้กล่าวร้าย และการพิจารณาความไม่เที่ยงของเบญจขันธ์  ๓) ความรุนแรงทางใจ คือ พยาบาทวิตก แก้ไขด้วยการพิจารณาเห็นโทษของพยาบาท และการเจริญเมตตา ๖ ขั้นตอน  วิหิงสาวิตก แก้ไขด้วยการเจริญกรุณา ๖ ขั้นตอน

             จากการสัมภาษณ์นักวิชาการด้านพระพุทธศาสนา ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับวิธีแก้ไขความรุนแรงต่อพระสงฆ์ที่จำเป็นในยุคปัจจุบันนี้ด้วย ซึ่งมี ๘ ประเด็นคือ ๑) การปลูกฝังความคิดแบบ      โยนิโสมนสิการด้วยการให้การศึกษา  ๒) การยึดมั่นในโอวาทปาฏิโมกข์  ๓) การใช้หลักอหิงสา            ๔) การสานเสวนาทางศาสนา  ๕) การใช้แนวคิดแบบองค์รวมตามหลักกาลามสูตร  ๖) การปฏิรูปการบริหารคณะสงฆ์  ๗) การปฏิรูปการศึกษาคณะสงฆ์ และ ๘) การส่งเสริมพระนักพัฒนาท้องถิ่น

 Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕