หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » วรพันธุ์ แย้มหงษ์ปภา
 
เข้าชม : ๑๙๙๙๔ ครั้ง
การสื่อสารทางสังคมเพื่อพัฒนากระบวนการเรียนรู้ขององค์กรทางพระพุทธศาสนา (สาขาวิชาการพัฒนาสังคม)
ชื่อผู้วิจัย : วรพันธุ์ แย้มหงษ์ปภา ข้อมูลวันที่ : ๓๐/๐๑/๒๐๑๙
ปริญญา : พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต(การบริหารจัดการคณะสงฆ์)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระสุธีรัตนบัณฑิต
  โกนิฏฐ์ ศรีทอง
  -
วันสำเร็จการศึกษา : พฤศจิกายน ๒๕๖๑
 
บทคัดย่อ

              งานวิจัยเรื่อง การสื่อสารทางสังคมเพื่อพัฒนากระบวนการเรียนรู้ขององค์กรทางพระพุทธ ศาสนา มีวัตถุประสงค์ คือ ๑) เพื่อศึกษาการสื่อสารทางสังคมขององค์กรทางพระพุทธศาสนา ๒) เพื่อศึกษากระบวนการจัดการความรู้การสื่อสารทางสังคมในการเสริมสร้างการเรียนรู้พุทธธรรมขององค์กรทางพระพุทธศาสนา ๓) เพื่อนำเสนอแนวทางการพัฒนากระบวนการเรียนรู้พุทธธรรมขององค์กรทางพระพุทธศาสนา งานวิจัยนี้ศึกษาโดยใช้รูปแบบการวิจัยแบบผสานวิธี (Mixed Methodology) คือ การศึกษาเชิงคุณภาพ โดยการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview) ผู้บริหาร ผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารมวลชน นักการสื่อสารด้านการศึกษา จำนวน ๒๔ รูป/คน จากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ศูนย์วิปัสสนาสากลไร่เชิญตะวัน และเสถียรธรรมสถาน จำนวน ๔๐๐ รูป/คน และการศึกษาเชิงปริมาณ ผู้วิจัยวิเคราะห์ผลที่เกิดขึ้นกับผู้รับสารจากการสื่อสารขององค์กร ทั้งที่เป็นความรู้ ทัศนคติ และพฤติกรรมต่าง ๆ เพื่อยืนยัน โดยใช้แนวคิดทฤษฎีเกี่ยวกับความรู้ ทัศนคติ และความพึงพอใจและการใช้ข้อมูลทางสถิติเป็นกรอบในการวิเคราะห์  เพื่อหาค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าความเชื่อมั่น ค่าเฉลี่ย และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน

 

ผลการศึกษาวิจัย

 

๑.  การสื่อสารทางสังคมขององค์กรทางพระพุทธศาสนาทั้ง ๕ ด้าน ๑) ด้านรูปแบบการสื่อสาร ๒) ช่องทางการสื่อสาร ๓) สาระสำคัญของการสื่อสาร ๔) การสร้างการมีส่วนร่วมของการสื่อสาร และ ๕) การจัดการสื่อสารขององค์กรทางพระพุทธศาสนา พบว่า องค์กรในฐานะผู้ส่งสารนั้น มีรูปแบบในด้านการสื่อสารที่เหมือนกัน คือ เป็นทั้งการสื่อสารทางเดียว (One - Way Communication) ซึ่งเป็นการส่งข่าวสารหรือการสื่อความหมายไปยังผู้รับแต่เพียงฝ่ายเดียว โดยที่ผู้รับไม่สามารถมีการตอบสนองในทันทีให้ผู้ส่งทราบได้ แต่อาจจะมีปฏิกิริยาสนองกลับ (feedback) ไปยังผู้ส่งภายหลังได้ การสื่อสารในรูปแบบนี้จึงเป็นการที่ผู้รับไม่สามารถมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันได้ทันที เช่น การฟังวิทยุ หรือการชมโทรทัศน์  เป็นต้น และ เป็นการสื่อสารสองทาง (Two - Way Communication) เป็นการสื่อสารหรือการสื่อความหมายที่ผู้รับมีโอกาสตอบสนองมายังผู้ส่งได้ในทันที โดยที่ผู้ส่งและผู้รับอาจจะอยู่ต่อหน้ากันหรืออาจอยู่คนละสถานที่ก็ได้ แต่ทั้งสองฝ่ายจะสามารถมีการเจรจาหรือการโต้ตอบกันไปมา องค์กรมีการใช้สาร (Message) ที่เหมือนกัน คือใช้สารในการจัดการศึกษา การเผยแผ่ธรรมะ การบริการวิชาการแก่สังคม การทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ในทางกลับกันที่แตกต่างกัน คือ จะเน้นการใช้สาร ไปในเรื่องการพัฒนาสังคม และเรื่องสันติภาพ ใช้สารเป็นตัวก่อให้เกิดการประสานสัมพันธ์กันระหว่างบุคคลและสังคม ช่วยเสริมสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างคนในสังคม ช่วยสืบทอดวัฒนธรรมประเพณี และช่วยเยียวยาผู้ป่วยทางใจของคนในสังคม ในด้านช่องทางในการสื่อสาร (Channel) ที่เหมือนกัน เช่นใช้สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อโทรทัศน์ สื่อวิทยุ และสื่อใหม่ หรือโซเชียลมีเดีย

๒. กระบวนการจัดการความรู้การสื่อสารทางสังคมในการเสริมสร้างการเรียนรู้พุทธธรรมขององค์กรทางพระพุทธศาสนา ทั้ง ๕ ด้าน วิเคราะห์ร่วมกับกระบวนการจัดการความรู้ (Knowledge Management Process) ทั้ง ๗ ขั้นตอน คือ ๑) การบ่งชี้ความรู้ (Knowledge Identification) ๒) การสร้างและแสวงหาความรู้ (Knowledge Creation and Acquisition) ๓) การจัดความรู้ให้เป็นระบบ (Knowledge Organization) ๔) การประมวลและกลั่นกรองความรู้ (Knowledge Codification and Refinement) ๕) การเข้าถึงความรู้ (Knowledge Access) ๖) การแบ่งปันแลกเปลี่ยนความรู้ (Knowledge Sharing) ๗) การเรียนรู้ (Learning) จากการศึกษาพบว่า ด้านรูปแบบการสื่อสารขององค์กรอยู่ในระดับมาก (𝑥̅ = ๓.๗๙) ด้านการจัดการสื่อสารขององค์กรอยู่ในระดับมาก (𝑥̅ = ๔.๒๐) ช่องทางการสื่อสารขององค์กรอยู่ในระดับมาก (𝑥̅ = ๓.๖๐) การสร้างการมีส่วนร่วมของการสื่อสารอยู่ในระดับมาก (𝑥̅ = ๔.๓๐)

๓. แนวทางการพัฒนากระบวนการเรียนรู้พุทธธรรมขององค์กรทางพระพุทธศาสนานั้น ควรมีการเพื่อถ่ายทอดความรู้ด้านธรรมะสำหรับประชาชนทั่วไป โดยไม่เจาะจงสำหรับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง โดยใช้ทฤษฎีการสื่อสาร จากแบบจำลองการของการสื่อสาร S M C R Model ของเดวิด เค. เบอร์โล คือ ผู้ส่ง (Source) ข่าวสาร (Message) ช่องทางในการส่ง (Channel) ผู้รับ (Receiver) และเป็นผู้มีทัศนคติ ระดับความรู้ และพื้นฐานทางสังคม วัฒนธรรมเช่นเดียวกันหรือคล้ายคลึงกันกับผู้ส่ง จึงจะทำให้การสื่อสารนั้นได้ผล โดยผ่านการจัดการความรู้ ก็คือ คน เทคโนโลยี กระบวนการความรู้ เพื่อนำความรู้จากแหล่งความรู้ไปให้ผู้ใช้ เพื่อทำให้เกิดการปรับปรุง และนวัตกรรม โดยใช้หลักทางพระพุทธศาสนาเข้ามาช่วยในการสื่อสาร ร่วมกับหลักภาวนา ๔ คือ กายภาวนา สีลภาวนา จิตตภาวนา ปัญญาภาวนา ซึ่งการพัฒนากระบวนการเรียนรู้พุทธธรรมขององค์กรทางพระพุทธศาสนานี้ จะอยู่ภายใต้กรอบของความรู้ ทัศนคติ วิถีปฏิบัติ

Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕