หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระยอด เทวธมฺโม (บุญก้อน)
 
เข้าชม : ๑๙๙๙๖ ครั้ง
การศึกษาโลกวิทูในทรรศนะพระพุทธศาสนาเถรวาท
ชื่อผู้วิจัย : พระยอด เทวธมฺโม (บุญก้อน) ข้อมูลวันที่ : ๒๕/๐๑/๒๐๑๙
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระครูพิพิธจารุธรรม
  ประพัฒน์ ศรีกูลกิจ
  -
วันสำเร็จการศึกษา :
 
บทคัดย่อ

              การศึกษาวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ (๑) เพื่อศึกษาแนวคิดเรื่องโลกตามทรรศนะทั่วไป  (๒) เพื่อศึกษาแนวคิดเรื่องโลกในทรรศนะพระพุทธศาสนาเถรวาท (๓) เพื่อศึกษาวิเคราะห์เรื่องโลกวิทูตามหลักธรรมในพระพุทธศาสนาเถรวาท  การศึกษาวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงเอกสาร

           ผลการวิจัยพบว่า

           กำเนิดโลกในทรรศนะศาสนาประเภทเทวนิยม มียูดาย คริสต์ และอิสลามเป็นต้น หมายถึงแผ่นดินของพระเจ้า ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่บนโลกนี้พระเจ้าเป็นสร้างขึ้นมาเอง พระเจ้าเป็นปฐมเหตุของโลก พระองค์เป็นสิ่งเหนือธรรมชาติไม่มีสิ่งอื่นใดเหนือกว่าพระเจ้า ความสุขและความทุกข์ของมนุษย์พระเจ้าเป็นผู้กำหนดควบคุมดูแลเสมอพระเจ้าผู้ตัดสินทุกอย่าง และโลกต้องดำเนินไปตามอำนาจของพระเจ้าจัดสรร มนุษย์สามารถไปถึงสวรรค์ได้จะต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัดตามคำสั่งสอนและจงรักภักดีต่อพระเจ้า

          กำเนิดโลกในศาสนาพุทธเถรวาท หมายถึง แผ่นดินที่อยู่อาศัยของหมู่สัตว์ โลกเป็นสิ่งที่ต้องแตกสลายไปตามกาลเวลา โลกต้องอยู่ภายใต้อำนาจของกฎไตรลักษณ์ เป็นสิ่งไม่แน่นอน เกิดขึ้นตามกระบวนการของธรรมชาติ พระพุทธศาสนาเน้นเสมอว่า โลกที่เรากำลังอาศัยอยู่นี้ เป็นโลกียะมายา ตั้งอยู่ชั่วครั้งชั่วคราว มนุษย์ไม่ควรยึดติดกับโลกแบบนี้เกินไป มันเป็นเพียงโลกภายนอก และไม่ใช่หนทางนำสัตว์โลกให้พ้นจากความทุกข์ได้ ดังนั้น พระพุทธเจ้าพยายามสอนมนุษย์ให้หัน มาศึกษาเรื่องโลกภายในตัวของเรามากกว่าโลกภายนอกตัวเรา และทรงสอนว่า การจะหลุดพ้นจากโลกแห่งทุกข์นี้ได้ต้องดำเนินตามมรรคมีองค์แปด ซึ่งเป็นมรรคาที่จะนำสัตว์ให้พ้นจากทุกข์ได้ 

           คำว่าโลกวิทู ในบทพระพุทธคุณหมายถึงผู้รู้แจ้งโลก คำว่าผู้รู้แจ้งคือพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงรู้แจ้งโลกทั้ง ๓ คือ ๑) สังขารโลก โลกคือสังขาร ๒) สัตว์โลก โลกคือหมู่สัตว์ ๓) โอกาสโลก โลกคือแผ่นดิน  ส่วนประเภทของโลกที่พระพุทธเจ้าทรงรู้แจ้ง คือ ๑) สังขารโลก หมายถึงการปรุงแต่ง, สิ่งที่ถูกปัจจัยปรุงแต่ง ในเรื่องไตรลักษณะ หมายถึงร่างกาย ตัวตน ถูกปรุงแต่งขึ้นจากธาตุ ๔ มี ๒ ประการ คือ (๑) อุปาทินนกสังขาร = สังขารมีใจครอง (๒) อนุปาทินนกสังขาร = สังขารไม่มีใจครอง ๒) สัตวโลก หมายถึงผู้ติดข้องอยู่ในขันธ์ ๕ ด้วยความพอใจรักใคร่ สัตว์ หมายถึงสิ่งมีชีวิต มีความรู้สึกและเคลื่อนไหวได้ ซึ่งรวมถึงสิ่งที่มีชีวิต ที่มี ๒-๔ มากเท้า และไม่มีเท้าทั้งหมดนอกจากพืชและต้นไม้ คือเทวดา มาร พรหม เป็นต้น ๓) โอกาสโลก หมายถึงโลกอันกำหนดด้วยโอกาส โลกอันมีในอวกาศ โลกซึ่งเป็นโอกาสแก่สัตว์ทั้งหลายที่จะอยู่อาศัยโลกคือแผ่นดินอันเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ทั้งหลายและจักรวาล

          หลักคำสอนที่สำคัญเกี่ยวกับเรื่องโลก พระพุทธเจ้าทรงเน้นถึงโลกคือร่างกาย ดังพุทธพจน์ว่า “เราตถาคตย่อมบัญญัติโลก ความเกิดแห่งโลก ความดับแห่งโลก และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับโลก ที่ร่างกายประมาณวาหนึ่งนี้แล ซึ่งมีสัญญา มีใจครองนี้เอง”  ซึ่งพระอรรถกถาท่านอธิบายว่า โลกบัญญัติหมายถึงทุกขสัจ การเกิดแห่งโลกหมายถึงสมุทยสัจ การดับแห่งโลกหมายถึงนิโรธสัจ และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์หมายถึงมรรคสัจ

Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕