หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระอิทธิยาวัธย์ โชติปญฺโญ (สุวีรวราวุฒิ)
 
เข้าชม : ๒๐๐๓๔ ครั้ง
ศึกษาวิเคราะห์พุทธวิธีการบริหารเวลา
ชื่อผู้วิจัย : พระอิทธิยาวัธย์ โชติปญฺโญ (สุวีรวราวุฒิ) ข้อมูลวันที่ : ๑๘/๑๒/๒๐๑๘
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระครูโฆสิตวัฒนานุกูล
  สิทธิโชค ปาณะศรี
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๑๓ มีนาคม ๒๕๖๑
 
บทคัดย่อ

        งานวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ ๑) เพื่อศึกษาแนวคิด ทฤษฎี เกี่ยวกับการบริหารเวลา ๒) เพื่อศึกษาหลักพุทธธรรมที่เกี่ยวข้องกับการบริหารเวลา ๓) เพื่อศึกษาวิเคราะห์พุทธวิธีการบริหารเวลาในการพัฒนาคุณภาพชีวิต การดำเนินการวิจัยใช้รูปแบบการวิจัยคุณภาพเชิงภาพ (Qualitative..Research) ผู้วิจัยจะศึกษาเกี่ยวกับการบริหารเวลาตามหลักธรรมในพระพุทธศาสนาที่ปรากฏในพระไตรปิฎก ฉบับมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อรรถกถาหนังสือ บทความ งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง แล้วประมวลข้อมูลโดยนำมาศึกษาวิเคราะห์ ด้วยวิธีวิเคราะห์เนื้อหา และนำเสนอสรุปการวิจัย ด้วยวิธีนำเสนอผลการวิจัยเชิงพรรณนา ผลการศึกษาพบว่า

             ในทรรศนะของพระพุทธศาสนา มองเวลาเป็นเรื่องของการสืบต่อจากอดีตมาปัจจุบัน มีบทบาทที่ดำเนินไปกับวิถีและการกระทำต่างๆ เรียกว่า กรรมกรรมนั้นเป็นการสืบต่อที่สำคัญเรียกว่าการสั่งสมเรียกว่า อดีต ปัจจุบัน อนาคต พระพุทธศาสนาจึงสอนให้เราไม่ประมาทในการทำความดี แนวคิดเรื่องบริหารเวลาได้กล่าวถึงประเด็นการบริหารเวลา โดยเป้าหมายให้งานเกิดประสิทธิภาพสูงสุด และแสดงสาเหตุต่างๆที่ทำให้ไม่สามารถใช้เวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพได้สมบูรณ์ การศึกษาส่วนใหญ่มองไปยังประเด็นเรื่องบริหารเวลาในการทำงาน ในขณะที่พระพุทธศาสนามองถึงการพัฒนาชีวิตแบบองค์รวม จากการศึกษาพระพุทธเจ้าและพุทธสาวก ทำให้เห็นวิธีการบริหารจัดการเวลา คือ เมื่อท่านทั้งหลายเห็นสัจธรรมจากการใช้ชีวิตจนรู้สึกเบื่อหน่าย จึงมีศรัทธาในการแสวงหาหนทางที่เป็นความจริงสูงสุด และมุ่งทำเป้าหมายของตนให้สำเร็จ ด้วยการบ่มเพาะโพธิปักขิยธรรมให้สมบูรณ์ จนบรรลุความรู้แจ้ง เมื่อจบกิจในการพัฒนาตนเองไปสู่ปัญญาที่นำไปสู่ความพ้นทุกข์ ก็อุทิศตนรับใช้โลกและเพื่อนมนุษย์

             การศึกษาวิเคราะห์พุทธวิธีในการบริหารเวลา ได้นำหลักพุทธธรรมมาใช้ในการบริหารเวลาโดยอธิบายจากหลักภาวนา ๔ และแนวทางการบริหารเวลาที่มีผลต่อสังคม รวมเป็น ๕ ด้าน ผลการศึกษาได้พบว่า หลักพุทธธรรมคือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ามุ่งประโยชน์ทั้งนักบวชและผู้ครองเรือน โดยมีตั้งแต่ระดับโลกียสุขไปจนถึงโลกุตตรสุข  หลักพุทธธรรมที่เกี่ยวข้องกับการบริหารเวลาทางด้านกาย ได้แก่หลักอินทรีย์ ๕ พละ ๕ ทิฏฐธัมมิกสังวัตตนิกธรรม โภควิภาค และโภคาทิยะ ทางด้านศีล ได้แก่ เบญจศีล เบญจธรรม อิทธิบาท ๔ กาลัญญุตา ปธาน ๔ ทางด้านจิต ได้แก่ อภิณหปัจจเวกขณะ อัปปมาทธรรม มรณสติ อุปัญญาตธรรม ทางด้านปัญญา ได้แก่ ไตรสิกขา ธรรมมีอุปการะมาก ไตรลักษณ์  อัตถะ ๓ อริยสัจ ๔ ทางด้านสังคม ได้แก่ ทิศ ๖ กุลจิรัฏฐิติธรรม นาถกรณธรรม อปริหานิยธรรม ราชสังคหะ และหลักพุทธธรรมที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการบริหารเวลา ได้แก่ การทำงานคั่งค้าง อบายมุข ๖ อกุศลมูล ๓ มหิจฉตา อสันตุฏฐิ นิวรณ์ ๕ และ มาร ๕.

ในส่วนของพุทธบริษัท หลักพุทธธรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้ชีวิต  สามารถนำมาอธิบายผ่านการบริหารเวลาทางกาย การบริหารเวลาทางศีล การบริหารเวลาทางจิต การบริหารเวลาทางปัญญา การบริหารเวลาทางสังคม โดยมีตัวอย่างพุทธบริษัทในปัจจุบัน อันประกอบด้วย นักบวชและผู้ครองเรือน เมื่อมีปัจจัยสี่พอเพียงในการดำรงชีวิตแล้ว ก็ปฏิบัติตามขัดเกลาตนตามหลักไตรสิกขา ทำให้มีจิตที่ควรแก่การงานเป็นทางสู่ปัญญา เป็นประโยชน์สุขในปัจจุบัน ในขณะเดียวกันก็ทำคุณประโยชน์แก่ผู้คนและสังคม ผ่านวิธีการต่างๆตามความถนัดของตน

             สรุปผู้วิจัยเห็นว่าพุทธวิธีในการบริหารเวลา เป็นวิธีการใช้ชีวิตของชาวพุทธอย่างจำกัดได้อย่างเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล อีกทั้งยังสามารถทำให้เราพ้นจากความทุกข์ พุทธวิธีในการบริหารเวลาจึงเป็นสิ่งที่ชาวพุทธควรศึกษา และนำไปประพฤติปฏิบัติจริงจึงได้รับผลแห่งการปฏิบัติเป็นลำดับขั้น เหมือนดังที่พระพุทธองค์และพระสาวกได้รับมาแล้ว

Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕