หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหาบุญทัน อานนฺโท (พาหา)
 
เข้าชม : ๑๙๙๙๒ ครั้ง
การศึกษาเชิงวิเคราะห์เรื่องเวสสันดรชาดก ศึกษาเฉพาะทานบารมี (๒๕๔๐)
ชื่อผู้วิจัย : พระมหาบุญทัน อานนฺโท (พาหา) ข้อมูลวันที่ : ๑๗/๐๘/๒๐๑๐
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(ปรัชญา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  ดร. พระมหาสมจินต์ สมฺมาปญฺโณ
  ดร.วีรชาติ นิ่มอนงค์
  ดร.บัว พลรัมย์
วันสำเร็จการศึกษา : ๑๐ เมษายน ๒๕๔๐
 
บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ เป็นการศึกษาเชิงวิเคราะห์เวสสันดรชาดก โดยศึกษาเฉพาะกรณีการบำเพ็ญทานบารมีที่ปรากฏในพระไตรปิฎกเป็นสำคัญ จากการศึกษาทำให้ทราบว่า การบำเพ็ญทานของพระเวสสันดรนั้น พระองค์มีอุดมการณ์อย่างแน่วแน่ในการกระทำทาน แม้บางครั้งจะพบอุปสรรคมากมาย พระองค์ก็ไม่ละความมุ่งมั่นนั้น เพราะทรงมุ่งประโยชน์สูงสุดคือ พระโพธิญาณ  อันจะเป็นเครื่องนำสรรพสัตว์ให้พ้นจากความทุกข์

          วิทยานิพนธ์นี้ได้แบ่งเนื้อหาออกเป็น ๕ บทดังนี้
          บทที่ ๑ กล่าวถึงที่มาแห่งปัญหา จุดประสงค์ในการวิจัย  คำจำกัดความที่นำมาใช้ในการวิจัย ตลอดถึงเอกสารงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง วิธีดำเนินการวิจัยและประโยชน์ที่จะได้จากการวิจัยนี้

         บทที่ ๒ ความหมายของคำว่า ทาน กับคำที่คล้ายกันและได้กล่าวถึงเรื่องทานโดยทั่วไป ทั้งปัญหาเกี่ยวกับทานที่ปรากฏทุกยุคสมัย ความหมายของคำว่า บารมี ที่ปรากฏในพระไตรปิฎกและอรรถกถาแห่งจริยาปิฏกและประเภทแห่งบารมี

         บทที่ ๓ การบำเพ็ญทานบารมีของพระเวสสันดรที่ปรากฏในพระไตรปิฎก เฉพาะที่เด่นชัดและจุดมุ่งหมายแห่งการให้ทานของพระเวสสันดร

         บทที่ ๔ การวิเคราะห์อิทธิพลแห่งทางจริยาของพระเวสสันดรที่มีต่อสังคมไทย โดยกล่าวเฉพาะด้านจริยศาสตร์ ด้านศิลปวัฒนธรรม และด้านขนบธรรมเนียมประเพณี โดยแบ่งออกเป็นยุคสมัย ตั้งแต่สมัยสุโขทัย อยุธยา ธนบุรี และรัตนโกสินทร์

          บทที่ ๕ สรุปเชิงวิเคราะห์และข้อเสนอแนะ

          เกี่ยวกับการบำเพ็ญทานบารมีของพระเวสสันดร ในฐานะที่พระองค์เป็นพระโพธิสัตว์ผู้บำเพ็ญบารมีเพื่อความเป็นพระพุทธเจ้า พบว่า พระเวสสันดรได้บำเพ็ญทานบารมี โดยมีการให้สิ่งของต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นข้าวของ เงินทอง เครื่องประดับ ทาสชาย-หญิง แม้แต่บุตรธิดา และภรรยา พระองค์ก็สละอย่างไม่เสียดาย การให้สิ่งดังกล่าวนี้ มีเป้าหมายอยู่ที่ พระโพธิญาณ หรือการได้ความเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต

          ในการบำเพ็ญทานบารมีของพระเวสสันดรนั้น พบอีกว่า พระองค์มิได้บำเพ็ญเฉพาะทานบารมีเท่านั้น แต่พระองค์ได้บำเพ็ญบารมีข้ออื่น ๆ ด้วย ถ้าพระองค์ทรงบำเพ็ญเฉพาะทานบารมี  พระองค์ก็จะไม่ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า เพราะคุณธรรมทั้งหลายที่นำไปสู่ความเป็นพระพุทธเจ้ามี ๑๐ ประการ

          สำหรับอิทธิพลแห่งทานจริยาของพระเวสสันดรที่มีต่อสังคมไทยนั้น พบว่า มีอิทธิพลต่อสังคมไทยมากกว่าชาดกเรื่องอื่น ๆ ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่า เรื่องเวสสันดรชาดกถูกนำมาเผยในลักษณะต่าง ๆ อย่างมากมาย เช่น การนำเอาเรื่องเวสสันดรชาดก มาถ่ายทอดทางศิลปให้เห็นเป็นรูปธรรมตามที่ปรากฏในพระอุโบสถวัดต่าง ๆ จำนวนไม่น้อย     และการนำเอาเรื่องเวสสันดรชาดกมาเทศน์ให้พุทธศาสนิกชนไทยได้ฟังกันเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ครั้งอดีตจนถึงปัจจุบัน

          การที่พุทธศาสนิกชนได้ฟังการเทศน์เรื่องเวสสันดรชาดกเป็นประจำทุกปี ทำให้หลักคำสอนที่แฝงอยู่ในเรื่องซึมซาบอยู่ในจิตใจของพุทธศาสนิกชาวไทย เรื่องนี้เห็นได้จากนิสัยของคนไทย คือ เป็นคนมักเสียสละให้อภัยง่าย ไม่ผูกโกรธ เป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตน เคารพผู้อาวุโส ฯลฯ พฤติกรรมของคนไทยดังกล่าวนี้ เป็นผลจากทานจริยาของพระเวสสันดร และการได้ฟังเรื่องเวสสันดรชาดกเป็นประจำทุกปีนี้เอง จึงเป็นบ่อเกิดแห่งประเพณีและวัฒนธรรมของคนไทย
 

Download : 254004.pdf
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕