หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » สัมฤทธิ์ ศรีประทุม
 
เข้าชม : ๒๐๐๑๒ ครั้ง
การตีความภาษาทางพระพุทธศาสนาในชาดกเรื่องพระสุธน-มโนห์รา
ชื่อผู้วิจัย : สัมฤทธิ์ ศรีประทุม ข้อมูลวันที่ : ๑๖/๑๑/๒๐๑๘
ปริญญา : พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระครูสุธีคัมภีรญาณ
  โสวิทย์ บำรุงภักดิ์
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๖๑
 
บทคัดย่อ

 

การตีความภาษาทางพระพุทธศาสนาเรื่องพระสุธน-มโนห์รา มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาประวัติความเป็นมาของชาดกเรื่องพระสุธน-มโนห์รา เพื่อศึกษาศาสตร์แห่งการตีความภาษาศาสนาและเพื่อตีความภาษาศาสนาในชาดกเรื่องพระสุธน-มโนห์รา

ระเบียบวิธีวิจัยเป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยการวิจัยเอกสารที่เกี่ยวข้องกับชาดกเรื่องพระสุธน-มโนห์ราและการตีความภาษาศาสนา ได้แก่ เอกสารขั้นปฐมภูมิ ประกอบด้วย พระไตรปิฎก, อรรถกถา ฎีกา, คัมภีร์วิสุทธิมรรค, หนังสือกาพย์กลอนสวดเรื่องพระสุธนและเอกสารขั้นทุติยภูมิ ประกอบด้วย เอกสาร งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง โดยนำเอกสารและงานวิจัยทั้งหมดมาแสดงเหตุผลที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันในแต่ละประเด็น

ผลการวิจัยพบว่า

ชาดกเรื่องพระสุธน-มโนห์ราเป็นนิทานเก่าแก่อายุมากกว่า ๑๕๐๐ ปี โดยปรากฏหลักฐานในคัมภีร์มหาวัสตุของพระพุทธศาสนามหายานซึ่งมีแนวคิดการแสดงชาดกที่แฝงไว้ด้วยอุบายในรูปของภาษาสามัญซึ่งจะต้องตีความภาษาสามัญกลับไปสู่ภาษาศาสนาอันเป็นเจตนารมณ์ที่แท้จริงของผู้แต่ง โดยตีความตามกระบวนทัศน์หลังนวยุค ได้แก่ หลักภาษาศาสนา ๒ ระดับ หลักเนตติปกรณ์ หลักมหาปเทศและการตีความเชิงอุปมานิทัศน์ ประกอบด้วยการตีความ ๔ ขั้นตอนคือตีความตามตัวอักษร ตีความเชิงบุคลาธิษฐาน ตีความเชิงอุปมาอุปไมยและตีความเชิงธรรมาธิษฐาน จึงเห็นโครงสร้างระดับลึก ได้แก่ แนวทางสู่นิพพานตามลำดับขั้นของพระโพธิสัตว์ที่เกี่ยวข้องอยู่ในโพธิญาณคือญาณเครื่องรู้อริยสัจ ๔ และใช้แนวทางดังกล่าวเป็นอุบายในการดำเนินเรื่องโดยนำเสนอเรื่องทุกข์คือขันธ์ ๕ อุปมาดังเมืองอุดรปัญจาล์ ซึ่งขันธ์ ๕ ประกอบด้วยกายและใจ กล่าวคือกาย ได้แก่ หู ตา จมูก ลิ้น กาย อุปมาดังพระสุธนและใจอุปมาดังนางมโนห์รา, สมุทัยคืออนุสัย ๗ อุปมาดังด่าน ๗ ชั้นกันดาร, นิโรธคือการบรรลุโลกุตตรธรรมอุปมาดังเหตุการณ์พระสุธนและนางมโนห์ราพบกันแล้วจึงเสด็จกลับเมืองอุดรปัญจาล์ด้วยพระขรรค์หมายถึงขันธ์ ๓ คืออริยศีลขันธ์ อริยสมาธิขันธ์และอริยปัญญาขันธ์ และมรรคคือโพธิปักขิยธรรม ๓๗ อุปมาดังอาวุธ ๓ ประการได้แก่สุตาวุธอุปมาดังมนตร์, ปวิเวกาวุธอุปมาดังยาและปัญญาวุธอุปมาดังแหวน,ลูกศร,ธนู ทั้งนี้สารัตถะของเรื่อง (Theme) คืออินทรีย์ ๕ ระดับ ได้แก่ (๑) หลักอินทรีย์ ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย อุปมาดังพระสุธนและใจอุปมาดังนางมโนห์รา (๒) หลักอินทรีย์สังวรอุปมาดังปักษีหัสดีลิงค์, (๓) หลักอินทรีย์ ๕ อุปมาดังพญานกอินทรีย์, (๔) หลักอัญญินทรีย์อุปมาดังพระอินทร์และ (๕) หลักอัญญาตาวินทรีย์คืออินทรีย์ของท่านผู้รู้ทั่วถึงแล้วอุปมาดังพระสุธนและนางมโนห์ราเหาะบินได้ดังนกอินทรีย์กลับเมืองอุดรปัญจาล์ จึงสรุปโดยธรรมาธิษฐานได้ว่าผู้บำเพ็ญเพียรตามหลักอินทรีย์บารมี ๕ ประการนี้เองคือพระอินทร์โดยบุคลาธิษฐานที่มีฐานะเป็นเทพผู้ช่วยเหลือพระโพธิสัตว์ให้สามารถบำเพ็ญบารมีได้สำเร็จ

 

Download

 

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕