หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » นางทัสนี วงศ์ยืน
 
เข้าชม : ๒๐๐๒๓ ครั้ง
ศึกษาวิเคราะห์การปฏิบัติกัมมัฏฐานตามแนวกายคตาสติในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท(๒๕๕๑)
ชื่อผู้วิจัย : นางทัสนี วงศ์ยืน ข้อมูลวันที่ : ๒๓/๐๗/๒๐๑๐
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระสุธีธรรมานุวัตร
  อาจารย์รังษี สุทนต์
  อาจารย์รังษี สุทนต์
วันสำเร็จการศึกษา : ๕ เมษายน ๒๕๕๑
 
บทคัดย่อ

      วิทยานิพนธ์ เรื่อง ศึกษาวิเคราะห์การปฏิบัติกัมมัฏฐานตามแนวกายคตาสติในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ เพื่อศึกษาวิเคราะห์กายคตาสติกัมมัฏฐานที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท เพื่อศึกษาวิเคราะห์แนวทางการปฏิบัติกายคตาสติกัมมัฏฐานที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท และเพื่อนำเสนอแนวทางการประยุกต์ใช้กายคตาสติกัมมัฏฐานที่เหมาะสมกับการครองชีวิตประจำวันของคฤหัสถ์ในยุคปัจจุบันผลการวิจัยพบว่า พระพุทธเจ้าทรงสอนกายคตาสติกัมมัฏฐานทั้งแก่บรรพชิต และคฤหัสถ์เพื่อให้ปฏิบัติอบรมจิตให้เป็นสมาธิ ด้วยการตั้งสติพิจารณาอาการ ๓๒ ให้เห็นความไม่งาม ความ

เป็นสิ่งปฏิกูล และความแปรผันของสังขาร เกิดความเบื่อหน่าย คลายกำหนัด ละความสำคัญว่างามมีผู้ปฏิบัติได้บรรลุมรรคผลจำนวนมาก การได้บรรลุมรรคผล ขึ้นอยู่กับอุปนิสัยที่สั่งสมมา การปฏิบัติกายคตาสติกัมมัฏฐานนั้นเหมาะสมกับจริตของแต่ละบุคคลแนวทางการปฏิบัติกายคตาสติกัมมัฏฐานที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท ให้เริ่มต้นจากการดำรงตนอยู่ในศีล สำรวมในศีล มีความประพฤติเพียบพร้อมด้วยกุศลกรรมบถ เห็นโทษแม้เพียงเล็กน้อยเป็นภัย คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ตัดความห่วงกังวลทั้งหลาย เลือกสถานที่
ที่เหมาะกับการปฏิบัติกัมมัฏฐาน พบอาจารย์ผู้กัลยาณมิตร แล้วรับเอากายคตาสติกัมมัฏฐานนั้นมาปฏิบัติด้วยหลักอิทธิบาท ๔ ให้มาก บ่อย ๆ ในความดูแลของอาจารย์ผู้บอกกัมมัฏฐาน จนเกิดความ
ชำนาญ และบรรลุเป้าหมายที่ต้องการคฤหัสถ์ในปัจจุบันนี้ต้องมีสติตามทันสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น ด้วยการฝึกปฏิบัติกายคตาสติการสวดมนต์ (เช้า – เย็น) เป็นประจำทุกวัน เจริญอานาปานสติ สาธยาย และกำหนดพิจารณา
ส่วนของร่างกาย เฉพาะมูลกัมมัฏฐาน คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง โดยอนุโลมและปฏิโลม เพื่อฝึกจิตให้มีสมาธิ ให้บริสุทธิ์ พ้นจากอุปกิเลส เครื่องเศร้าหมอง มีความสงบ จิตว่าง ปล่อยวางไม่ยึดมั่นถือมั่นในตน ที่สำคัญยิ่งก็คือ คฤหัสถ์ผู้ปฏิบัติกายคตาสติกัมมัฏฐานต้องเป็นบุคคลที่ดำรงตนอยู่ในศีล มีความประพฤติเพียบพร้อมด้วยกุศลกรรมบถ จึงจะบรรลุเป้าหมายและมีความสามารถพึ่งพาตนเองได้ในสังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน ตามเป้าหมายของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๐ (พ.ศ. ๒๕๕๐ - ๒๕๕๔)

Download : 255193.pdf

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕