หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระบุญญฤทธิ์ รตินฺธโร (นุชเทียน)
 
เข้าชม : ๒๐๐๑๒ ครั้ง
ศึกษาเปรียบเทียบภวังคจิตของพุทธปรัชญาเถรวาทกับจิตใต้สำนึกของซิกมันด์ ฟรอยด์(๒๕๕๑)
ชื่อผู้วิจัย : พระบุญญฤทธิ์ รตินฺธโร (นุชเทียน) ข้อมูลวันที่ : ๒๓/๐๗/๒๐๑๐
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(ปรัชญา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาณรงค์ กนฺตสีโล
  พระใบฎีกาเสน่ห์ ญาณเมธี
  พระใบฎีกาเสน่ห์ ญาณเมธี
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๑
 
บทคัดย่อ

    วิทยานิพนธ์นี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อการศึกษาเปรียบเทียบภวังคจิตของพุทธปรัชญาเถรวาทกับจิตไต้สำนึกของซิกมันด์ ฟรอยด์ โดยผู้วิจัยได้แบ่งประเด็นในการศึกษาออกเป็น ๖ ประการ คือ ๑) ความหมาย ๒) บ่อเกิด ๓) ภาวะทั่วไป ๔) กระบวนการรับรู้อารมณ์ ๕) กระบวนการเก็บสั่งสมอารมณ์ ๖) การเปลี่ยนแปลงสู่พฤติกรรมผลการวิจัยมีข้อสรุปที่สำคัญคือ

๑) ความหมาย : ภวังคจิตมีความหมายที่กว้างขวางกว่าจิตใต้สำนึกที่ว่าเป็นองค์แห่งภพเพราะภวังคจิตเป็นนามธรรมไม่มีรูปร่าง มีการเกิดดับอยู่ในกระแสวิถีจิตตลอดเวลาและสามารถสืบต่อไปสู่ภพใหม่ได้ ส่วนจิตใต้สำนึกมีความหมายที่เป็นเพียงพลังงานทางจิต ที่มีลักษณะเป็นรูปธรรมไม่สามารถสืบต่อไปยังภพใหม่ได้
๒) บ่อเกิด : ภวังคจิตมีบ่อเกิดจากกระแสจิตซึ่งโดยธรรมชาติในกระแสจิตมีธรรมชาติอยู่ ๒ ประการคือ (๑) วิถีจิต (๒) ภวังคจิต ดังนั้น ภวังคจิตเปนส่วนหนึ่งของกระแสจิตหรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ภวังคจิตเป็นกระแสเดียวกับกระแสจิตก็ได้ แต่จิตใต้สำนึกมีบ่อเกิดมาจากประสาทสัมผัสหรือประสบการณ์แล้วนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเป็นพลังงานทางจิตหรือแรงขับอยู่ภายในบุคคล
๓) ภาวะทั่วไป : ภวังคจิตมีภาวะทั่วไปคือมีลักษณะที่เกิดขึ้นตั้งอยู่และดับไป เป็นนามธรรมและไม่มีรูปร่าง มีอยู่ ๓ ประเภท คือ (๑) อดีตภวังค์ (๒) ภวังคจลนะ (๓) ภวังคุปัจเฉทะ ภวังคจิตทั้ง ๓ ประเภทมีหน้าที่ในการปฏิสนธิจิตและจุติจิตที่จะสืบต่อไปยังภพใหม่ส่วนจิตใต้สำนึกเป็นพลังงานทางจิตมีอยู่ ๓ ระบบคือ ระบบอิด (Id) ระบบอีโอ (Ego) และระบบซูเปอร์อีโก้ (Super-Ego) ที่มีอิทธิพลในการผลักดันให้เกิดพฤติกรรมในบุคคล
๔) กระบวนการรับรู้อารมณ์ : ภวังคจิตมีกระบวนการรับรู้อารมณ์ จากกระแสวิถีจิตที่เกิดดับอยู่ตลอดเวลาโดยที่กระแสวิถีจิตจะรับอารมณ์อยู่ ๒ ทางคือ (๑) ประสาทสัมผัสภายนอก (๒) อารมณ์ต่างๆที่เป็นนามธรรม จากนั้น ภวังคจิตก็จะรับอารมณ์ต่อจากกระแสวิถีจิตแล้วส่งต่อไปยังกระแสวิถีจิตซ้ำอีกเป็นอย่างนี้แบบสันตติ ส่วนจิตใต้สำนึกจะมีกระบวนการรับอารมณ์จากประสาทสัมผัสภายนอกเท่านั้นแล้วเปลี่ยนแปลงมาอยู่ในรูปของพลังงานทางจิต เป็นพลังงานที่คงที่อยู่ภายใน
๕) กระบวนการเก็บสั่งสมอารมณ์ : ภวังคจิตเมื่อรับอารมณ์จากกระแสวิถีจิตแล้วก็จะเข้าสู่กระบวนการเก็บสั่งสมอารมณ์โดยผ่านภวังคจิต ๓ ดวงคือ (๑) อดีตภวังค์ (๒) ภวังคจลนะ (๓) ภวังคุปัจเฉทะ ที่มีลักษณะและหน้าที่สัมพันธ์กันในกระบวนการเก็บสั่งสมภายใน ส่วนจิตใต้สำนึกรับอารมณ์จากประสาทสัมผัสภายนอกเข้าสู่กระบวนการเก็บสั่งสมอารมณ์โดยผ่านรูปของพลังงานทางจิตมีอยู่ ๓ ระบบคือ ระบบอิด ระบบอีโก้และระบบซูเปอร์อีโก้ จะเก็บกดสั่งสมภายในจิตใต้สำนึก
๖) การเปลี่ยนแปลงสู่พฤติกรรม: ภวังคจิตมีการเปลี่ยนแปลงสู่พฤติกรรมจากการเก็บสั่งสมอารมณ์ในกระแสวิถีจิตเพื่อจะแสดงพฤติกรรมต่างๆในกระแสวิถีจิต โดยขึ้นอยู่ว่าอารมณ์ที่เก็บสั่งสมมีเจตนามากหรือน้อยเพียงใด หากสิ่งที่เก็บสั่งสมมีเจตนามากก็จะแสดงพฤติกรรมออกมาให้เห็นได้อย่างชัดเจน เช่น พฤติกรรมของภวังคจิตที่เห็นกันทั่วไปในตอนที่บุคคลใกล้จะหมดอายุขัย (ตาย) คือ (๑) กรรมอารมณ์ (๒) กรรมนิมิตอารมณ์ (๓) คตินิมิตอารมณ์ เป็นต้น ส่วนจิตใต้สำนึกจะมีการแสดงพฤติกรรมออกมาจากพลังงานทางจิตที่เก็บกดสั่งสมไว้ในจิตใต้สำนึก แต่จะขึ้นอยู่กับว่าอารมณ์ที่เก็บสั่งสมมีเจตนามากหรือน้อยเพียงใด ถ้ามีเจตนามากก็จะมีแรงผลักดันให้เกิดพฤติกรรมออกมาให้เห็นชัดเช่นเดียวกับภวังคจิต
ดังนั้น จะเห็นว่าภวังคจิตในพุทธปรัชญาเถรวาทมีความสำคัญที่ลึกซึ้งกว้างขวางกว่าจิตใต้สำนึกซึ่งอาจจะพิสูจน์ได้จากตนเองและประสบการณ์ต่างๆ ที่พบเห็นในชีวิตประจำวันโดยที่ภวังคจิตในกระแสวิถีจิตนี้ สามารถทำให้บุคคลนำไปพัฒนาและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อยกระดับจิตให้สูงไปในทางที่พ้นโลกเป็นอยู่ในปัจจุบันได้ด้วยศีล สมาธิ ปัญญา และรวมถึงจิตใต้สำนึกที่เป็นพลังงานทางจิต ในบุคคลเพื่อการดำรงชีวิตประจำวันเพื่อให้เกิดมีความสุขใด

Download : 255171.pdf

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕