หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » นายภัชรบถ ฤทธิ์เต็ม
 
เข้าชม : ๑๙๙๘๒ ครั้ง
วิเคราะห์คำสอนที่ใช้เพิกถอนมิจฉาทิฏฐิก่อนการบรรลุธรรมของพุทธสาวก(๒๕๕๑)
ชื่อผู้วิจัย : นายภัชรบถ ฤทธิ์เต็ม ข้อมูลวันที่ : ๒๓/๐๗/๒๐๑๐
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระครูพิพิธสุตาทร (พระมหาบุญช่วย สิรินฺธโร)
  พระใบฎีกาเสน่ห์ ญาณเมธี
  อาจารย์บัณฑิต รอดเทียน
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๗/๓/๒๕๕๑
 
บทคัดย่อ
    วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษามิจฉาทิฏฐิและความเชื่อของมนุษย์ในอินเดียยุคก่อนพุทธกาลและสมัยพุทธกาล ประเภทของมิจฉาทิฏฐิของพุทธสาวกก่อนการบรรลุธรรมและการวิเคราะห์คำสอนที่ใช้เพิกถอนมิจฉาทิฏฐิของพุทธสาวกและปัจจัยสนับสนุนการบรรลุธรรม จากผลการวิจัย พบว่า ความเชื่อของมนุษย์ในสังคมอินเดียโบราณในยุคก่อนพุทธกาลและสมัยพุทธกาล พบว่า มีพัฒนาการ ๔ ช่วง คือ ความเชื่อในชีวิตปัจจุบัน ความเชื่อในชีวิตหลังความตาย ความเชื่อในการเวียนว่ายตายเกิด ความเชื่อในการไม่กลับมาเกิดอีก ความเชื่อต่างๆ เหล่านี้ยังคงมีอยู่ในสมัยพุทธกาล และสังคมอินเดีย ตลอดถึงสังคมโลกปัจจุบัน และพบว่า คำว่า “ทิฏฐิ” เมื่อเป็นคำเดี่ยวโดยทั้งหมด มีความหมายว่า ความเห็นผิดจากสภาวธรรม ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ทรงประกาศหลักความเชื่อที่ถูกต้อง เรียกว่า “สัมมาทิฏฐิ” และประกาศหลักปฏิบัติที่ถูกต้อง เรียกว่า“มัชฌิมาปฏิปทา”
จากผลการศึกษาในครั้งนี้ สามารถจัดแบ่งลักษณะของมิจฉาทิฏฐิได้ ๔ ประเภท และสามารถสรุปได้ใน ๒ หลัก คือ ๑) ทิฏฐิเชิงหลักการ ได้แก่ สัสสตทิฏฐิ และอุจเฉททิฏฐิ ๒) ทิฏฐิเชิงปฏิบัติการ ได้แก่ กามสุขัลลิกานุโยค และอัตตกิลมถานุโยค และจากผลการศึกษาประเภทของมิจฉาทิฏฐิของพุทธสาวกก่อนบรรลุธรรมและการวิเคราะห์คำสอนที่ใช้เพิกถอนมิจฉาทิฏฐิก่อนการ บรรลุธรรมของพุทธสาวก แบ่งออกเป็น ๔ กลุ่ม คือ
๑. คำสอนเพื่อเพิกถอนทิฏฐิแบบอัตตกิลมถานุโยค ได้แก่ หลักมัชเฌนธรรมหรือหลักมัชฌิมาปฏิปทา (อริยมรรค ๘) และหลักการปฏิบัติความเป็นมุนี (โมเนยยปฏิปทา)
๒. คำสอนเพื่อเพิกถอนทิฏฐิแบบกามสุขัลลิกานุโยค ได้แก่ หลักการออกบวช (เนกขัมมะ) หลักการละความยินดีในกามคุณ หลักการพิจารณากายว่าเป็นของไม่งาม หลักความเป็นผู้สันโดษ หลักการประมาณในการบริโภค (โภชเนมัญญัตญุตา) หลักการรักษาและพิจารณาพระวินัยหลักการปฏิบัติธุดงค์ และหลักความไม่ประมาท
๓. คำสอนว่าด้วยการเพิกถอนทิฏฐิแบบสัสสตทิฏฐิ ได้แก่ หลักไตรลักษณ์ หลักความไม่
ยึดมั่นถือมั่น หลักพิจารณาความสงสัย หลักตจปัญจกกรรมฐาน และหลักการเพิกถอนความยึดมั่นในความรู้เดิม
๔. คำสอนว่าด้วยการเพิกถอนทิฏฐิแบบอุจเฉททิฏฐิ ได้แก่ หลักปฏิจจสมุปบาทหรือ
อิทัปปัจจตา และหลักโยนิโสมนสิการเพื่อแก้ถีนมิทธะอย่างไรก็ตาม การที่พุทธสาวกจะบรรลุธรรมได้นั้น นอกจากจะประกอบด้วยปัจจัยดังกล่าวแล้ว ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่สนับสนุนการบรรลุธรรม ๔ ปัจจัย คือ ๑) การตั้งความปรารถนาในอดีตชาติ ๒) การถวายทานในอดีตชาติ ๓) สติปัญญาในปัจจุบันชาติ และ ๔) ความศรัทธาใน
พระพุทธเจ้าหรือพระพุทธศาสนา ก็เป็นปัจจัยสำคัญในการสนับสนุนให้พุทธสาวกได้บรรลุธรรมในปัจจุบันชาตินั้น

Download :  255167.pdf

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕