หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระเกษม ธีรวํโส
 
เข้าชม : ๑๙๙๙๔ ครั้ง
ศึกษาหลักธรรมและการปฏิบัติวิปัสสนาภาวนาในสมาธิสูตร
ชื่อผู้วิจัย : พระเกษม ธีรวํโส ข้อมูลวันที่ : ๒๖/๐๓/๒๐๑๘
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(วิปัสนาภาวนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระเทพสุวรรณเมธี
  -
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์นี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ ๑) เพื่อศึกษาเนื้อหาและสาระสำคัญในสมาธิสูตร ๒) เพื่อศึกษาหลักธรรมในสมาธิสูตร และ ๓) เพื่อศึกษาหลักธรรมและการปฏิบัติวิปัสสนาภาวนาในสมาธิสูตร โดยการศึกษาข้อมูลจากพระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา และคัมภีร์ปกรณวิเสส วิสุทธิมรรคที่เกี่ยวข้อง เรียบเรียง บรรยาย และตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญ

จากผลการวิจัยพบว่า สมาธิสูตร เป็นพระสูตรที่ปรากฏในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๗ สมาธิ หมายถึงความตั้งมั่นของจิต หรือภาวะที่จิตแน่วแน่ต่อสิ่งที่กำหนด ภาวะที่จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง คือการที่จิตแน่วแน่ แนบสนิทอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่ส่าย ไม่วอกแวก เป็นธรรมที่เกิดร่วมรวมตัวกันอยู่ได เหมือนแม่เหล็กที่ดูดเศษเหล็กมารวมกันเป็นก้อนเดียวกันไม่กระจายไป ปรากฏเป็นความสงบ สมาธิในพระสูตรได้กล่าวถึงความตั่งมั่นของจิต และการเห็นชัดในความเกิดดับ ความจริง ที่เป็นเหตุแห่งการหลุดพ้นจากการยึดเหนี่ยวทั้งปวง หลักธรรมสนับสนุนการปฏิบัติวิปัสสนาภาวนาในสมาธิสูตร คือ ขันธ์ ๕

วิปัสสนาภาวนา คือ ปัญญาเห็นแจ้งในการพิจารณาอารมณ์แล้วเห็นความเกิดขึ้นความดับไปแห่งจิต ผู้ปฏิบัติเห็นในไตรลักษณ์ว่าเป็นของ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ บังคับบัญชาไม่ได้สภาพจิตเข้าสู่สภาวธรรมที่ว่างจากความยึดมั่น ถือมั่นในบัญญัติทั้งหลาย การปฏิบัติวิปัสสนาภาวนาจะต้องปฏิบัติตามแนวสติปัฏฐาน ๔ โดยการพิจารณา กาย เวทนา จิต และธรรม ซึ่งมีโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการเป็นเกื้อหนุน

ในการปฏิบัติวิปัสสนาภาวนาในสมาธิสูตร ผู้ปฏิบัติวิปัสสนากำหนดจิตให้เป็นสมาธิเพื่อละอุปาทานขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เพื่อถอนอุปาทานในขันธ์ ๕ เพราะอุปาทาน เป็นตัวทำให้เกิดทุกข์ ทุกข์เพราะยึดมั่น โดยการกำหนดรู้ขันธ์ ๕ โดยความเป็นไตรลักษณ์ตามหลักปฏิจจสมุปบาท คือ เห็นความเกิดในสายเกิดและความดับในสายดับของ รูป นาม จนเป็นเหตุทำให้เกิด สติ มีปัญญาญาณ หยั่งเห็น ญาณ เบื้องต้น ตั้งแต่ นามรูปปริเฉทญาณ คือ ปัญญาญาณที่สามารถแยกรูปแยกนามได้ จนถึงปัจจเวกขณญาณ คือปัญญาญาณที่พิจารณาทบทวนว่ากิเลสที่ละได้แล้วและกิเลสที่ยังละไม่ได้ โดยลำดับก็จะทำให้โยคีผู้ทำการปฏิบัติวิปัสสนาภาวนา ได้บรรลุจุดสูงสุดของพระพุทธศาสนานั้นก็คือ พระนิพพาน

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕