หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหาขจรไกร ญาณโสภโณ (สุขจีน)
 
เข้าชม : ๑๙๙๙๕ ครั้ง
ศึกษาวิเคราะห์อิทธิพลของพระพุทธศาสนาที่มีต่อความเชื่อเรื่องการสักยันต์ในสังคมล้านนา
ชื่อผู้วิจัย : พระมหาขจรไกร ญาณโสภโณ (สุขจีน) ข้อมูลวันที่ : ๑๗/๐๓/๒๐๑๘
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระครูปลัดพรหมเรศ โชติวโร
  พระครูภาวนาเจติยานุกิจ
  สายัณห์ อินนันใจ
วันสำเร็จการศึกษา : ๑๗ มีนาคม ๒๕๕๘
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

 

การวิจัยฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ ๑) เพื่อศึกษาประวัติและพัฒนาการของพระพุทธศาสนาในสังคมล้านนา ๒) เพื่อศึกษาประวัติและความเชื่อเรื่องการสักยันต์ในสังคมล้านนา   ๓) เพื่อวิเคราะห์อิทธิพลของพระพุทธศาสนาที่มีต่อความเชื่อเรื่องการสักยันต์ในสังคมล้านนา                 ผลการศึกษาพบว่า

ผลการศึกษาประวัติศาสตร์และพัฒนาการของพระพุทธศาสนาในล้านนา พบว่า พระพุทธศาสนาได้เข้ามาสู่ล้านนาในยุคสมัยของพระนางจามเทวีโดยที่พระนางจามเทวีเสด็จครองนครหริภุญชัย ในพุทธศตวรรษที่ 19 พญามังรายกษัตริย์แห่งอาณาจักรโยนก ซึ่งปกครองเมือง         หิรัญเงินยาง เชียงแสน ได้รวบรวมหัวเมืองต่างๆที่แตกแยกรวมเป็นอาณาจักรล้านนา การขยายอาณาจักรล้านนานั้นควบคู่กับการขยายตัวทางพระพุทธศาสนา เมื่อขยายอำนาจออกไปอย่างกว้างขวาง และมีฐานอำนาจที่มั่นคง พระพุทธศาสนาได้เจริญรุ่งเรืองในยุคสมัยของพระเจ้าติโลกราช ทรงโปรดให้มีการสังคายนาพระไตรปิฎกขึ้นที่วัดมหาโพธาราม  ในพุทธศักราช ๒๑๐๑-๒๓๑๗ นับเป็นยุคแห่งความอ่อนแอของล้านนาเพราะเป็นยุคที่พม่าได้เข้ามาปกครองล้านนา ทำให้พระพุทธศาสนาในล้านนาถูกผสมผสานกับพระพุทธศาสนาแบบพม่านับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

 

ผลการศึกษาประวัติศาสตร์ความเชื่อเรื่องการสักยันต์ในสังคมล้านนา พบว่า การสักยันต์ในล้านนาได้รับอิทธิพลจากในสมัยที่พม่าได้เข้ามาปกครองล้านนาในพุทธศักราช 2101 โดยเข้ามาผสมผสานกับศิลปวัฒนธรรม ตลอดจนถึงการติดต่อของกลุ่มพ่อค้าชาวไทยใหญ่ที่เข้ามาติดต่อค้าขายกับชาวล้านนาพร้อมกับการติดต่อค้าขายกับชาวไทย จนเกิดการผสมผสานและรับเอาวัฒนธรรมการสักยันต์มาจากชาวพม่า โดยที่ในระยะแรกการสักยันต์เป็นความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมและจารีตประเพณี เช่น การสักขาลาย เป็นต้น ซึ่งในสมัยก่อนนิยมสักเพื่อให้เกิดการยอมรับในสังคมว่าเป็นชายเต็มตัว มีความกล้าหาญ โดยไม่ได้หวังผลทางด้านไสยศาสตร์  ต่อมาเมื่อเกิดศึกสงคราม วัฒนธรรมการสักยันต์จึงได้รับความนิยมในหมู่ของทหาร ที่ต้องออกรบ ความเชื่อในด้านคงกระพันชาตรี จึงเป็นความเชื่อที่ชาวไทยสมัยก่อนหันมานิยมสักยันต์ลงผิวหนัง เพื่อเป็นขวัญกำลังใจเมื่อยามออกรบ ในปัจจุบันวัฒนธรรมการสักยันต์ของชาวล้านนายังปรากฏให้เห็นในบางพื้นที่ เมื่อยุคสมัยโลกาภิวัฒน์ได้เข้าถึงสังคมล้านนา ทำให้ความเชื่อในเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ของการสักยันต์ถูกลดทอนลงจากอดีตไปมาก โดยที่มองการสักยันต์เป็นเพียงศิลปะบนร่างกายแขนงหนึ่งเท่านั้น อย่างไรก็ตามแม้ว่าความเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ในเรื่องการสักยันต์ของสังคมล้านนาจะถูกลดทอนลง แต่ก็ยังมีบางกลุ่มที่ยังคงเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ของการสักยันต์อยู่

ผลการศึกษาวิเคราะห์อิทธิพลของพระพุทธศาสนาที่มีต่อความเชื่อเรื่องการสักยันต์ในสังคมล้านนา พบว่า พระพุทธศาสนาได้เกี่ยวข้องกับความเชื่อเรื่องการสักยันต์ เช่น รูปภาพที่สัก อักขระที่สัก เป็นต้น การสักยันต์ได้มีอิทธิพลด้านความเชื่อ เพราะกลุ่มคนที่มาสักยันต์ต่างหวังผลในด้านความศักดิ์สิทธิ์และความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต อีกทั้งหลังจากการสักยันต์จากแต่ละสำนักชีวิตก็จะพบเจอแต่สิ่งที่ดี และทำให้มีความมั่นใจในการประกอบอาชีพ และการดำเนินชีวิตประจำวันอีก อิทธิพลด้านสังคมพบว่า การสักยันต์มีผลกระทบทั้งในด้านบวกและด้านลบ ในด้านบวก การสักยันต์ช่วยเสริมสร้างกำลังใจในการประกอบอาชีพ และการดำเนินชีวิตในประจำวัน โดยเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ของรอยสักว่าจะสามารถป้องกันอันตรายและทำให้รู้สึกปลอดภัย ส่วนในด้านลบ                   การสักยันต์ในปัจจุบันได้รับการยอมรับเฉพาะบางกลุ่มเท่านั้น เพราะคนที่มีรอยสักมักจะถูกมองในแง่ไม่ดี  เมื่อสมัครงาน อิทธิพลด้านร่างกายและจิตใจพบว่า รอยสักที่สักลงไปนั้นจะไม่สามารถลบได้ และหากลบได้ก็จะเป็นแผลเป็นติดตัวไปตลอดชีวิต ทำให้ผู้สักยันต์ต้องมีตำหนิบนผิวหนังตลอดไป และรู้สึกไม่ดีกับรอยสักหรือรอยแผลเป็น

 

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕