หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระครูสิริปัญญาสุนทร (นบ บุญหมื่น)
 
เข้าชม : ๑๙๙๙๕ ครั้ง
ศึกษาเปรียบเทียบทัศนะเรื่องภาวะผู้นำของพุทธทาสภิกขุ กับพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)
ชื่อผู้วิจัย : พระครูสิริปัญญาสุนทร (นบ บุญหมื่น) ข้อมูลวันที่ : ๑๗/๐๓/๒๐๑๘
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระครูโกวิทอรรถวาที
  พระโกศัยเจติยารักษ์
  สายัณห์ อินนันใจ
วันสำเร็จการศึกษา : มีนาคม 2558
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์เรื่องศึกษาเปรียบเทียบทัศนะเรื่องภาวะผู้นำของพุทธทาสภิกขุกับพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)” มีวัตถุประสงค์ ๓ ข้อ ๑) เพื่อศึกษาภาวะผู้นำตามแนวทางพระพุทธศาสนาเถรวาท ๒) เพื่อศึกษาเรื่องทัศนะภาวะผู้นำของพุทธทาสภิกขุกับพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ๓) เพื่อเปรียบเทียบภาวะผู้นำตามทัศนะของพุทธทาสภิกขุกับพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)  ครั้งนี้เป็นศึกษาเอกสารเชิงวิชาการ (Documentary Research) โดยมุ่งเน้นศึกษาจากคัมภีร์ ในพระพุทธศาสนา เอกสาร งานวิจัย บทความทางวิชาการ ที่เกี่ยวข้องกับภาวะผู้นำ       

จากการศึกษาภาวะผู้นำตามแนวทางพระพุทธศาสนาเถรวาท พบว่า การที่มนุษย์เราอาศัยอยู่รวมกันมากๆก็จำเป็นที่จะต้องมีผู้นำ เพื่อความอยู่รอดของสังคม  ประชาชนและประเทศชาติผู้นำ ซึ่งอยู่ในฐานะหัวหน้าหรือผู้บริหาร จึงมีความสำคัญดุจเข็มทิศคอยกำหนดทิศทางของคนเดินทาง  

         พระพุทธองค์พระองค์ทรงตรัสแก่พระอานนท์ว่า ธรรมวินัยที่เราได้บัญญัติแล้วแก่เธอทั้งหลาย หลังจากเราล่วงลับไปแล้ว ก็จักเป็นศาสดาแก่เธอทั้งหลาย. จะเห็นได้ว่า พระพุทธองค์ทรงให้ความสำคัญต่อพระธรรมวินัยมากกว่าบุคคลที่เป็นผู้นำ  เพราะพระธรรมวินัยไม่มีการเปลี่ยนแปลง   

          หลักธรรมที่สนับสนุนความเป็นผู้นำนั้นได้แก่หลักอธิปไตย ๓ รู้ระบอบการบริหารงานที่เหมาะสมกับองค์กรและชุมชน, พรหมวิหาร ๔ รู้จักใช้ทั้งพระเดชพระคุณ, สังคหวัตถุ ๔ รู้จักการผูกมิตรไมตรีต่อผู้อื่น ได้อย่างดี,  พละ ๕ รู้จักบริหารตนเองอย่างชาญฉลาดมีความมั่นคงทางสติปัญญาและอารมณ์, สาราณิยธรรม ๖   รู้หลักการบริหารตนและบริหารงานไปพร้อมกัน, หลักทิศ ๖ รู้บทบาทหน้าที่ทางสังคม,  หลักอปริหานิยธรรม ๗ หลักบริหารงานอย่างมีสิทธิภาพ โดยคำนึงถึงประโยชน์ขององค์กรเป็นหลัก,  สัปปุริสธรรม ๗ หลักบริหารตนและองค์กรอย่างรู้เท่าทันและการป้องกันความเสียหายอันจะเกิดแก่องค์กร

จากการศึกษาทัศนะภาวะผู้นำของพุทธทาสภิกขุกับพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)พบว่า ภาวะผู้นำตามทัศนะของท่านอาจารย์พุทธทาส จะแสดงธรรม ชั้นสูง คือ ปรมนุตตรสุญญตา จริงๆ นั้น ท่านหมายถึงว่าได้ทำลาย โลภะ โทสะ โมหะ ความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวตนได้เด็ดขาด เป็นสมุจเฉทปหานลงไปจริงๆ แล้ว เพราะฉะนั้นเมื่อจะกล่าวถึงสุญญตาสุดยอด ท่านต้องบัญญัตินามไว้ว่า ปรมนุตตรสุญญตา

สรุปในทัศนะพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ได้ได้อธิบายภาวะผู้นำไว้ในหลัก        สัปปุริสธรรม ๗ หมายถึง ธรรมของสัตบุรุษ  ธรรมของคนดี  ธรรมที่ทำให้เป็นสัตบุรุษมี ๗ ประการ คือ ๑) ธัมมัญญุตา รู้หลักหรือรู้จักเหตุ ๒) อัตถัญญุตา รู้ความมุ่งหมายหรือรู้เหตุผล ๓) อัตตัญุตา รู้จักตน ๔) มัตตัญญุตา  รู้จักประมาณ ๕) กาลัญญุตา รู้จักกาลเวลา  ๖) ปริสัญญุตา รู้จักชุมชน  สังคม   ๗ )ปุคคลสัญญุตา รู้จักบุคคล คุณธรรม ๗ ประการ อันเป็นสมบัติภายในตัวผู้นำ  ซึ่งมีคุณสมบัติทั้ง ๗ ประการนี้  เป็นองค์ประกอบและปัจจัยที่เกี่ยวข้องกันอย่างสมบูรณ์ ที่จะทำให้ผู้นำสามารถจัดการ สามารถปฏิบัติการในภาระงานทุกอย่างให้บรรลุผลสำเร็จได้

ผลการเปรียบเทียบภาวะผู้นำตามทัศนะของพุทธทาสภิกขุกับพระพรหมคุณาภรณ์     (ป.อ. ปยุตฺโต) เพราะท่านทั้งสองเป็นพระคนละยุคสมัยมีความสามารถคนละด้าน แต่การทำงานเพื่อประโยชน์แก่การเข้าถึง พุทธธรรมของประชาชน ท่านทั้งสองเป็นนักศึกษา ค้นคว้าอย่างไม่อยู่นิ่ง แสวงหาความรู้ตลอด จดบันทึกเหตุการณ์ต่างไว้ ท่านพุทธทาสภิกขุ มีความโดดเด่นด้านผู้นำทางจิต  วิญาณ  จะเทศน์สอนธรรมชั้นสูงแก่ผู้คน เช่น เรื่อง สุญญตา, ปฎิจจสมุปบาท

ส่วนพระพรหมคุณาภรณ์ มีความโดดเด่นมาด้านผู้นำทางวิชาการ  ตอนยังเป็นพระธรรม ปิฏกเป็นรองอธิการบดีมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยท่านคุณูปการแก่มหาวิทยาลัย ท่านเป็นพระตัวอย่างในอุดมคติของคณะสงฆ์ไทยมีความเป็นอยู่ที่เรียบง่ายตามสมณวิสัยมีศีลาจารวัตรน่าเลื่อมใส ทั้งสองท่านเป็นแบบอย่างที่ดีแก่พระภิกษุ สามเณรทั้งเรื่องการวางตัว เรื่องการศึกษา การสำรวมระวัง

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕