หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระครูสุพัฒนกาญจนกิจ (สุพิน สุภทฺโท/กริ่งกาญจนา)
 
เข้าชม : ๑๙๙๘๖ ครั้ง
ศึกษาพัฒนารูปแบบการทำงานของคณะสงฆ์จังหวัดกาญจนบุรี ในโครงการหมู่บ้านรักษาศีล ๕
ชื่อผู้วิจัย : พระครูสุพัฒนกาญจนกิจ (สุพิน สุภทฺโท/กริ่งกาญจนา) ข้อมูลวันที่ : ๑๒/๐๒/๒๐๑๘
ปริญญา : พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระราชปริยัติมุนี (เทียบ สิริญาโณ)
  บรรจบ บรรณรุจิ
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๙ ธันวาคม ๒๕๖๐
 
บทคัดย่อ

 

บทคัดย่อ

การศึกษาเรื่อง “ศึกษาพัฒนารูปแบบการทำงานของคณะสงฆ์จังหวัดกาญจนบุรี ในโครงการหมู่บ้านรักษาศีล ๕” มีวัตถุประสงค์ ๓ ข้อ คือ ๑) เพื่อศึกษาแนวคิดโครงการหมู่บ้านศีล ๕ ตามนโยบายของคณะสงฆ์ไทย ๒) เพื่อศึกษาสภาพปัจจุบันและปัญหาที่เป็นอุปสรรคในการดำเนินงานตามโครงการหมู่บ้านรักษาศีล ๕ ของคณะสงฆ์จังหวัดกาญจนบุรี ๓) เพื่อศึกษาพัฒนารูปแบบดำเนินงานโครงการหมู่บ้านรักษาศีล ๕ ของคณะสงฆ์จังหวัดกาญจนบุรี เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ

ผลการวิจัย พบว่า โครงการหมู่บ้านศีล ๕ ตามนโยบายของคณะสงฆ์ไทย มีความเป็นมา จากสถานการณ์บ้านเมืองในห้วงเวลาที่ผ่านมา ประเทศไทยประสบปัญหามากมาย คณะสงฆ์ โดยเจ้าประคุณสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช มีดำริที่จะเสริมสร้างความปรองดองและสมานฉันท์ของคนในชาติ ให้เกิดความสงบ สันติสุข มีความสามัคคีกลมเกลียวกัน โดยให้พุทธศาสนิกชนได้น้อมนำหลักศีล ๕ มาประพฤติปฏิบัติในการดำเนินชีวิตประจำวัน และมหาเถรสมาคมได้มีมติเห็นชอบเป็น “โครงหมู่บ้านรักษาศีล ๕” สภาพปัจจุบันและปัญหาที่อุปสรรค พบว่า ศีลทั้ง ๕ เป็นกฎระเบียบและเป็นหลักประพฤติปฏิบัติขั้นพื้นฐานสำหรับมนุษย์ทุกคน สภาพปัจจุบันและปัญหาที่เป็นอุปสรรคในการขับเคลื่อนโครงการหมู่บ้านรักษาศีล ๕ ๑) การขาดความอดทนและเป็นพวกบริโภคนิยม ๒) มีความหวงแหนในประโยชน์ส่วนตัวที่เกิดจากความโลภและเห็นแก่ตัว ๓) ชาวบ้านยังไม่เข้าใจ ยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องของหมู่บ้านรักษาศีล ๕ นี้อย่างพอเพียง

การขับเคลื่อนโครงการหมู่บ้านรักษาศีล ๕ เป็นไปอย่างเรียบง่ายและมั่นคง ภายใต้แนวคิด พอเพียงและพอประมาณ โดยร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อร่วมสร้าง ครอบครัวรักษาศีล หมู่บ้านรักษาศีล ตำบลรักษาศีล อำเภอรักษาศีล และจังหวัดรักษาศีล ๕รูปแบบดำเนินงานโครงการหมู่บ้านรักษาศีล ๕ พบว่า เป็นรูปแบบที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ เป็นการบูรณาการและประยุกต์ให้สอดคล้องกับหลักพุทธธรรม ประกอบด้วย ๑) หลักโลกปาลธรรมหรือหลักธรรมคุ้มครองโลก เพื่อเสริมคุณค่าให้โครงการหมู่บ้านรักษาศีล ๕ ได้มีพัฒนาการที่สมบูรณ์ เป็นการพัฒนาจิตและสะท้อนตนเองอยู่ตลอดเวลาในการ คิด พูด ทำ การเจริญภาวนาบ่มเพาะนิสัย สร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนและสังคม สร้างความมีเสถียรภาพให้แก่ประเทศชาติ ๒) หลักสังคหวัตถุ ๔ เป็นหลักธรรมสำหรับเป็นเครื่องมือใช้ยึดเหนี่ยว คือยึดเหนี่ยวใจคน ผูกใจคนและประสานหมู่ชนให้มีความสามัคคี เป็นหลักธรรมให้คนเป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจของคนทั่วไป และสร้างความมั่นคงให้แก่สังคมและชุมชน โดยมีหลักศีล ๕ เป็นองค์ประกอบหลัก ๓) หลักสาราณียธรรม ๖ เป็นหลักธรรมในพุทธศาสนา ที่มีการกล่าวถึงการช่วยเหลือกิจธุระของผู้ร่วมคณะด้วยความเต็มใจ ๔) หลักอปริหานิยธรรม ๗ เป็นหลักธรรมอันไม่เป็นที่ตั้งแห่งความเสื่อม เป็นไปเพื่อความเจริญฝ่ายเดียว สำหรับหมู่ชนหรือ ผู้บริหารบ้านเมือง เป็นแนวทางที่ดีในการอยู่ร่วมกันด้วยความสามัคคี ในสังคมและชุมชน ทำให้เกิดผลดีแก่เพื่อนร่วมงานและการบริหารงานในสังคมและชุมชน ตามโครงการหมู่บ้านรักษาศีล ๕   

ยุทธศาสตร์การปลูกฝังหลักศีล ๕ สู่การปฏิบัติ พบว่า มีเป้าหมายเพื่อเสริมความดีงามให้เกิดขึ้นกับชีวิต รูปแบบการบริหารโครงการหมู่บ้านศีล ๕ ของคณะสงฆ์จังหวัดกาญจนบุรี พบว่า มี ๓ ขั้นตอน ดังนี้ ๑) ขั้นเตรียมการ ๒) ขั้นดำเนินการ ๓ ขั้นวางแผนในโครงการ ตามหลักพุทธธรรมพร้อมรูปแบบการบริหารด้วยกลยุทธ์ ๔ กลยุทธ์ ดังนี้

    กลยุทธ์ที่ ๑: จัดตั้งศูนย์อำนวยการกลางและศูนย์อำนวยความสะดวกระดับชุมชนที่มีประสิทธิภาพ

    กลยุทธ์ที่ ๒: จัดอบรมประชาชน สร้างความรู้ความเข้าใจในการรักษาศีล ๕ ตามโครงการ และเชิญวิทยากรภายนอกมาให้ความรู้ตามแต่โอกาสจะอำนวย

    กลยุทธ์ที่ ๓: พัฒนาศักยภาพของบุคลากรทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ และสร้างจิตอาสาในการปฏิบัติงานเพิ่มให้มากขึ้น เน้นการประสานงานระหว่างบ้าน วัด และชุมชน (บวร) เพื่อให้เกิดความสามัคคีสมานฉันท์อย่างเป็นรูปธรรม

    กลยุทธ์ที่ ๔: สร้างเครื่องมือในการกำกับติดตามและประเมินผลการดาเนินโครงการที่มีคุณภาพ โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกมาเป็นกรรมการร่วมและตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน

ดาวน์โหลด

 

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕