หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » เอกอาภรณ์ สุริยะเจริญ
 
เข้าชม : ๑๙๙๙๙ ครั้ง
การประยุกต์หลักพุทธธรรมเพื่อการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ของ บุคลากรเทศบาลตำบลอุโมงค์ อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน(รัฐประศาสนศาสตร์)
ชื่อผู้วิจัย : เอกอาภรณ์ สุริยะเจริญ ข้อมูลวันที่ : ๐๑/๐๒/๒๐๑๘
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(การบริหารจัดการคณะสงฆ์)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาบุญเลิศ อินฺทปญโญ
  ฐิติวุฒิ อรุณศิโรจน์
  -
วันสำเร็จการศึกษา : 22 มีนาคม 2558
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

              งานวิจัยฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ 4 ประการ คือ 1) เพื่อศึกษาการประยุกต์หลักพุทธธรรมเพื่อการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ ของบุคลากรเทศบาลตำบลอุโมงค์ อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน          2) เพื่อเปรียบเทียบการประยุกต์หลักพุทธธรรมเพื่อการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ของบุคลากรเทศบาลตำบลอุโมงค์ อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน จำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล 3) เพื่อศึกษาปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการประยุกต์หลักพุทธธรรมเพื่อการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์   ของบุคลากรเทศบาลตำบลอุโมงค์ อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน  4) เพื่อศึกษาแนวทางการประยุกต์หลักพุทธธรรมเพื่อการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ของบุคลากรเทศบาลตำบลอุโมงค์ อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน ตามหลักสาราณียธรรม

              ดำเนินการวิจัยโดยการใช้วิธีการวิจัยแบบผสม (Mixed Methods) ประชากรที่ใช้ใน    การวิจัย คือ บุคลากรของเทศบาลตำบลอุโมงค์ และครูในพื้นที่ตำบลอุโมงค์ อำเภอเมือง         จังหวัดลำพูน จำนวน ๑๙๐ คน ซึ่งได้มาจากการหากลุ่มตัวอย่าง โดยใช้ตารางสำเร็จรูปของเครซี่และมอร์แกน (R.V.Krejcie  & Morgan) ได้กลุ่มตัวอย่างจำนวน ๑๒๕ คน ทำการสุ่มกลุ่มตัวอย่างโดยวิธีการสุ่มอย่างง่ายด้วยวิธีการจับฉลาก เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถาม (Questionnaire) และทำการวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูปเพื่อการวิจัยทางสังคมศาสตร์ เพื่อหาค่าความถี่ (Frequency) ค่าร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) และทำการทดสอบสมมติฐานด้วยการทดสอบค่าที (t-test) และค่าเอฟ (f-test) ด้วยการวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบทางเดียว (One-Way Anova) เมื่อพบว่ามีความแตกต่างจึงทดสอบความแตกต่างรายคู่โดยวิธีการหาผลต่างนัยสำคัญน้อยที่สุด (Least Significant Difference: LSD) ในส่วนของข้อคำถามปลายเปิดที่แสดงปัญหาอุปสรรค และข้อเสนอแนะ ผู้วิจัยทำการจัดกลุ่มตามประเด็นที่กำหนดไว้ในแบบสอบถามปลายเปิด จากนั้นจะทำการวิเคราะห์ โดยใช้การแจกแจงความถี่ (Frequency) และข้อมูลจากการสัมภาษณ์ ผู้วิจัยทำการจัดกลุ่มข้อมูล (Data Grouping) สาระสำคัญของประเด็นการสัมภาษณ์ จากนั้นทำการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงเนื้อหา (Content Analysis Technique)

 

ผลการวิจัยพบว่า

              1. บุคลากรเทศบาลตำบลอุโมงค์ อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน ส่วนใหญ่เป็นหญิง จำนวน       52 คน คิดเป็นร้อยละ 41.6 มีอายุระหว่าง 41 – 50 ปี จำนวน 43 คน คิดเป็นร้อยละ 34.4                มีวุฒิการศึกษาอยู่ในระดับต่ำกว่าปริญญาตรี จำนวน 54 คน คิดเป็นร้อยละ 43.2 มีสถานภาพสมรส จำนวน 82 คน คิดเป็นร้อยละ 65.6 และมีรายได้ 10,000 – 15,000 บาท จำนวน 56 คน      คิดเป็นร้อยละ 44.8

              2. บุคลากรเทศบาลตำบลอุโมงค์ อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน มีการประยุกต์หลักพุทธธรรมเพื่อการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ ในค่าเฉลี่ยรวมอยู่ในระดับมาก (= 4.00) เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ด้านเมตตากายกรรม ด้านเมตตาวจีกรรม ด้านเมตตามโนกรรม ด้านสาธารณโภคี  ด้านสีลสามัญญตา และด้านทิฏฐิสามัญญตา อยู่ในระดับมาก

              3. การเปรียบเทียบระดับการประยุกต์หลักพุทธธรรมเพื่อการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ของบุคลากรเทศบาลตำบลอุโมงค์ อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน การทดสอบสมมติฐานโดยการวิเคราะห์ความแตกต่างตามการจำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล ได้แก่ เพศ อายุ วุฒิการศึกษา สถานภาพ       และรายได้ พบว่าในค่าเฉลี่ยรวมด้านเพศและสถานภาพ ไม่แตกต่างกันจึงปฏิเสธสมมติฐานที่ตั้งไว้  ส่วนด้านตัวแปรต้น อายุ วุฒิการศึกษา และรายได้  ในค่าเฉลี่ยรวมแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ    ทางสถิติที่ระดับ ๐.๐๕ จึงยอมรับสมมติฐานที่ตั้งไว้

              4. ผลการศึกษาปัญหาอุปสรรค และข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการประยุกต์หลักพุทธธรรมเพื่อการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ของบุคลากรเทศบาลตำบลอุโมงค์ อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน ในประเด็นเกี่ยวกับปัญหาอุปสรรค ได้แก่ การแสดงออกทางสีหน้าและท่าทางที่ไม่สุภาพขณะใช้สื่อออนไลน์   การใช้อารมณ์ ไม่ระงับตนเอง เห็นแก่ตัว และการทำงานร่วมกันกับคนหมู่มาก ต้องมีการกระทบกระทั่งกันบ้างบางเวลา สถานการณ์และโอกาส ในประเด็นเกี่ยวกับข้อเสนอแนะ ได้แก่        การสร้างจิตสำนึกของตนเองในการแสดงความคิดเห็น การสงบสติอารมณ์ และควรใช้ให้เป็น      สร้างเรื่องดีๆ สื่อความเป็นจริง

              ๕. แนวทางการประยุกต์หลักพุทธธรรมเพื่อการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ตามหลัก             สาราณียธรรม พบว่า ผู้ใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ควรที่จะตรวจสอบข้อมูลให้ถูกต้องชัดเจน ไม่ไปกระทบกระทั่งหรือทำร้ายคนอื่นโดยที่อาจจะไม่เจตนา ไม่กล่าวร้าย ไม่ทำให้ผู้อื่นเสียหาย ควรใช้ในลักษณะที่สร้างความประทับใจหรือว่าความรู้สึกดีๆ ให้แก่กันมากกว่าการสร้างศัตรูกันในเครือข่าย เมื่อพบเจอสิ่งอันไหนที่มันดีงาม ควรจะเผยแพร่ ควรจะแชร์ให้คนอื่น  สิ่งไหนเป็นสิ่งที่ดี ก็ควรจะทำ ตรงข้ามกันอันไหนสิ่งที่มันไม่ดีก็ไม่ควรจะมีการแชร์ หรือว่าสื่อสารให้กับคนอื่น ก็ควรหยุดเพียงแค่นั้น โดยยึดหลักความมีจริยธรรม คุณธรรม ศีลธรรม และจรรยาบรรณในการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์

ดาวน์โหลด

 

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕