หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระครูพิศาลโชติวัฒน์ (วิฑูรย์ โชติปญฺโญ)
 
เข้าชม : ๒๐๐๐๘ ครั้ง
ศึกษาปาริสุทธิศีลในการปฏิบัติวิปัสสนาภาวนา
ชื่อผู้วิจัย : พระครูพิศาลโชติวัฒน์ (วิฑูรย์ โชติปญฺโญ) ข้อมูลวันที่ : ๑๖/๐๘/๒๐๑๗
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(วิปัสนาภาวนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาชิต ฐานชิโต
  สุเทพ พรมเลิศ
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๓/มีนาคม/๒๕๕๙
 
บทคัดย่อ


บทคัดย่อ

 

วิทยานิพนธ์นี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ เพื่อศึกษาปาริสุทธิศีลในคัมภีร์พุทธศาสนา-เถรวาท เพื่อศึกษาการปฏิบัติวิปัสสนาภาวนาในคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท เพื่อศึกษาปาริสุทธิศีลในการปฏิบัติวิปัสสนาภาวนา  โดยศึกษาข้อมูลจากคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาทและเอกสารอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวบรวม สรุป วิเคราะห์ เรียบเรียงบรรยายเชิงพรรณนา ตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญ จากการศึกษาพบว่า

 

ปาริสุทธิศีล ๔ หมายถึงศีลเป็นเครื่องทำให้บริสุทธิ์หรือศีลเป็นเหตุให้บริสุทธิ์ ได้แก่ (๑) ปาติโมกขสังวรศีล หมายถึงความเป็นผู้สำรวม สังวรในปาติโมกข์ ถึงพร้อมด้วยอาจารและโคจร มีปกติเห็นภัยในโทษแม้มีประมาณเล็กน้อย สมาทานศึกษาในสิกขาบททั้งหลาย (๒) อินทรียสังวรศีล หมายถึงการสำรวมระวังอินทรีย์ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ ไม่ให้อกุศลธรรมมีอภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้ (๓) อาชีวปาริสุทธิศีลหมายถึง ความบริสุทธิ์แห่งอาชีพ ไม่หลอกลวงเขาเลี้ยงชีวิต (๔) ปัจจยสันนิสสิตศีล หมายถึงการรับและบริโภคปัจจัย ๔ อย่างบริสุทธิ์ โดยการพิจารณาด้วยปัญญา

 

วิปัสสนาภาวนาเป็นการปฏิบัติตามหลักสติปัฏฐาน ๔ โดยมีฐานกายเป็นหลัก ด้วยการมีสติกำหนดรู้อารมณ์ที่ปรากฏในปัจจุบันตามฐานทั้ง ๔ คือ (๑) พิจารณาเห็นกายในกาย (๒) พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลาย (๓) พิจารณาเห็นจิตในจิต (๔) พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย ซึ่งมีองค์ธรรมคือ มีความเพียร มีสติ มีสัมปชัญญะ เกิดขึ้นพร้อมในทุกขณะที่กำหนดอยู่ จึงเป็นการปฏิบัติวิปัสสนาภาวนาที่ถูกต้อง

 

ปาริสุทธิศีล ๔ ที่มีความสมบูรณ์พร้อมทำให้สติมีความตั้งมั่น ในขณะปฏิบัติเมื่อใช้สติกำหนด ย่อมรู้ชัดอยู่ในการเคลื่อนไหวต่าง ๆ ที่เป็นไปในทางกาย ย่อมรู้ชัดซึ่งทุกขเวทนาที่บีบคั้น ย่อมรู้ชัดความนึกคิดที่เกิดมีขึ้นในจิต ย่อมตามรู้ธรรมมีการเห็นรูปทางตา เป็นต้น ด้วยวิปัสสนาญาณที่รู้แจ้งตามเป็นจริงในสิ่งที่กำหนดรู้อยู่นั้น ซึ่งไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน เมื่อมีเหตุจึงเกิดขึ้น เมื่อหมดเหตุจึงดับไป วิปัสสนาญาณที่แก่กล้าตามลำดับ ทำให้ถอนวิปลาสและละอวิชชาได้ในที่สุด

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕