หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระชาติ ฐานวีโร
 
เข้าชม : ๑๙๙๘๖ ครั้ง
ศึกษาการบำเพ็ญบารมีและการบรรลุธรรมของพระนันทเถระ
ชื่อผู้วิจัย : พระชาติ ฐานวีโร ข้อมูลวันที่ : ๑๖/๐๘/๒๐๑๗
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(วิปัสนาภาวนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระราชปริยัติเวที (สุชาติ กิตฺติปญฺโญ)
  ชิณญ์ ทรงอมรสิริ
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๗/มีนาคม/๒๕๕๙
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์นี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ เพื่อศึกษาการบรรลุธรรมในคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท เพื่อศึกษาการบำเพ็ญบารมีเพื่อการบรรลุธรรมในคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท และเพื่อศึกษาประวัติการบำเพ็ญบารมีและการบรรลุธรรมของพระนันทเถระ โดยศึกษาข้อมูลจากคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาทและเอกสารอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวบรวม สรุป วิเคราะห์ เรียบเรียงบรรยายเชิงพรรณนา ตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญ จากการศึกษาพบว่า

             การบรรลุธรรมในคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท หมายถึง การพัฒนาปัญญา โดยวิธีการปฏิบัติวิปัสสนา จนสามารถรู้แจ้งอริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค มีสภาวจิตที่เข้าถึง โลกุตตรธรรม ๙ ประการ คือ มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ การปฏิบัติเพื่อการบรรลุธรรมดังกล่าวนี้ ต้องเจริญวิปัสสนาตามหลักสติปัฏฐาน ๔ คือ กาย เวทนา จิต และธรรม โดยมีอารมณ์เป็นปรมัตถ์ คือ รูป-นามผู้บรรลุธรรม ดังกล่าวเรียกว่า พระอริยบุคคล ที่ทำการละสังโยชน์ธรรม ได้ตามกำลังของมรรคญาณ แบ่งเป็น ๔ ระดับ ได้แก่ พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี และ พระอรหันต์

             การบำเพ็ญบารมี หมายถึง การอบรมอุปนิสัยและสั่งสมกุศลจิตในการละเว้นความชั่ว ทำความดี ทำจิตให้บริสุทธิ์ ตามหลักบารมี ๓๐ ทัศ มีทาน ศีล เนกขัมมะเป็นต้น เพื่อเป้าหมายสูงสุดทางพระพุทธสาสนา คือ ความเป็นผู้สมบูรณ์ ทั้งพระพุทธเจ้า พระสาวก และผู้ปฏิบัติธรรม ล้วนต้องบำเพ็ญบารมีให้ถึงพร้อม ในการเจริญทิฎฐธรรม ซึ่งสามารถนำผู้ปฏิบัติให้เข้าถึงผลได้ในปัจจุบัน โดยการเจริญวิปัสสนาตามแนวทางสติปัฏฐาน ๔ เป็นต้น

             การบำเพ็ญบารมีและการบรรลุธรรมของพระนันทเถระ พบว่า สมัยปทุมุตตระพุทธเจ้า พระนันทเถระ เห็นพระพุทธเจ้าทรงสถาปนาภิกษุรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่ง “ผู้คุ้มครองทวารอินทรีย์ทั้งหลาย” จึงกระทำกุศลปรารถนา ในอนาคต จนมาถึงชาติสุดท้าย ท่านได้เกิดในตระกูลศากยวงศ์ มีปกติอยู่สุขสบายจึงถูกราคะในกามคุณครอบงำ พระพุทธเจ้าทรงแนะให้พระนันทะผนวช และให้เจริญวิปัสสนาตามแนวสติปัฏฐาน ๔ ท่านเริ่มต้นเจริญสติคุ้มครองทวารทั้ง ๖ คือ ในตา หู ลิ้น จมูก ลิ้น กาย ใจทำความรู้สึกตัวอยู่ตลอดเวลา จนเห็นความเปลี่ยนแปลงว่ารูป-นาม ที่ตามรู้ในปัจจุบันขณะนั้น มีการเกิด ดับ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน บุคคล เราเขา จนกระทั่งรู้แจ้งด้วยปัญญาสามารถบรรลุเป็นพระอรหันต์ เอตทัคคะ “ผู้คุ้มครองทวารอินทรีย์ทั้งหลาย”

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕