หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหานิวัตร กลฺยาณวฑฺฒโน (อุนารัตน์)
 
เข้าชม : ๒๐๐๐๗ ครั้ง
ศึกษาศรัทธาในการเจริญสมถะและวิปัสสนาภาวนา
ชื่อผู้วิจัย : พระมหานิวัตร กลฺยาณวฑฺฒโน (อุนารัตน์) ข้อมูลวันที่ : ๐๕/๐๘/๒๐๑๗
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(วิปัสนาภาวนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระศรีสุทธิเวที (ขวัญ ถิรมโน)
  จรูญ วรรณกสิณานนท์
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๗/มีนาคม/๒๕๕๙
 
บทคัดย่อ

 

บทคัดย่อ

 

วิทยานิพนธ์นี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ เพื่อศึกษาศรัทธาในคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท เพื่อศึกษาศรัทธาในการเจริญสมถภาวนา และเพื่อศึกษาศรัทธาในการเจริญวิปัสสนาภาวนา  โดยศึกษาข้อมูลจากคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาทและเอกสารอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวบรวม สรุป วิเคราะห์ เรียบเรียงบรรยายเชิงพรรณนา ตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญ จากการศึกษาพบว่า

ในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท ศรัทธาที่เป็นองค์ธรรมเบื้องต้นในการเจริญสมถะและวิปัสสนาภาวนานั้น มุ่งเน้นถึงศรัทธาที่ชื่อว่า “สัทธาญาณสัมปยุต” แปลว่า ศรัทธาที่ประกอบด้วยปัญญาและกลั่นกรองในการตัดสินใจ โดยมุ่งถึงศรัทธาอันแยกลักษณะออกเป็น ๒ กลุ่ม โดยกลุ่มที่ ๑ มีลักษณะแห่งศรัทธาอันเกิดจากเจริญวัตถุแห่งความเชื่อคืออนุสสติ ๖ มีหน้าที่ทำให้สภาวะจิตเกิดความผ่องใส มีผลคือความไม่ขุ่นมัวแห่งจิต จิตสงบ ซึ่งถือเป็นศรัทธาในการเจริญสมถภาวนา  ส่วนศรัทธาอีกลักษณะหนึ่งคือความวางใจ ปลงใจต่อสภาวธรรมที่ปรากฏเฉพาะหน้าจนทำให้เกิดความมุ่งมั่น แน่วแน่ต่อสภาวธรรมนั้น ๆ จนจิตสามารถเดินวิปัสสนาญาณรู้เท่าทันต่อสภาวธรรมนั้น ๆ อันเป็นลักษณะของศรัทธาในการเจริญวิปัสสนาภาวนา

ในการเจริญสมถภาวนา ศรัทธาเป็นองค์เครื่องหนุนให้จิตเกิดความตั่งมั่น สงบ เป็นสมาธิ จะปรากฏโดดเด่นเป็น ๑ ในจริต ๖ คือ สัทธาจริต ซึ่งเป็นการคัดอุปนิสัยของผู้ปฏิบัติที่เหมาะสมในการเจริญสมถภาวนา กัมมัฏฐานที่เหมาะสมแก่คนสัทธาจริต ได้แก่ อนุสสติ ๖ คือ
๑) พุทธนุสสติ  ๒) ธัมมานุสสติ ๓) สังฆานุสสติ ๔) สีลานุสสติ ๕) จาคานุสสติ ๖) เทวตานุสสติ

ในการเจริญวิปัสสนาภาวนา ศรัทธาจะปรากฏโดดเด่นในรูปของสัทธินทรีย์ในอินทรีย์ ๒๒ ที่ประกอบด้วยสัทธาเจตสิก ๑ ในโสภณสาธารณเจตสิก ๑๙ ดวง ที่ประกอบในโสภณจิต ๙๑ ดวง
อันเป็นอารมณ์ของวิปัสสนา เรียกว่า วิปัสสนาภูมิ ในขณะเดียวกันศรัทธาก็เป็นเครื่องมือแห่งการตรัสรู้ เรียกว่า โพธิปักขิยธรรม ในรูปของสัทธินทรีย์ ในอินทรีย์ ๕ และสัทธาพละ ในพละ ๕ ซึ่งถือเป็นองค์ธรรมอันนำไปสู่การพัฒนาเพื่อความพ้นทุกข์ เป็นพระอริยบุคคลประเภทสัทธานุสารี ผู้แล่นไปตามศรัทธา และสัทธาวิมุต ผู้หลุดพ้นด้วยศรัทธา เพราะเข้าใจอริยสัจได้ถูกต้อง 

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕