หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระครูเวฬุธรรมานุรักษ์ (บรรจง อภิญาโณ)
 
เข้าชม : ๑๙๙๘๖ ครั้ง
การศึกษาเปรียบเทียบแนวคิดเรื่องการเกิดในพระพุทธศาสนาเถรวาทและในศาสนาฮินดู
ชื่อผู้วิจัย : พระครูเวฬุธรรมานุรักษ์ (บรรจง อภิญาโณ) ข้อมูลวันที่ : ๐๑/๐๕/๒๐๑๗
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(ศาสนาเปรียบเทียบ)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระราชสิทธิมุนี
  พระมหามงคลกานต์ ฐิตธมฺโม
  แสวง นิลนามะ
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๘
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ ดังนี้ ๑) เพื่อศึกษาแนวคิดเรื่องการเกิดที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท ๒) เพื่อศึกษาแนวคิดเรื่องการเกิดที่ปรากฏในคัมภีร์ศาสนาฮินดู  และ       ๓) เพื่อศึกษาเปรียบเทียบแนวคิดเรื่องการเกิดในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาทและการเกิดในคัมภีร์ศาสนาฮินดู ผลการวิจัยพบว่า

การเกิดเป็นมนุษย์ ในทัศนะของพระพุทธศาสนานั้น เป็นการเกิดขึ้นของรูปนาม ก่อเป็นรูปชีวิตขึ้นเรียกว่าขันธ์ ๕ อันประกอบด้วย รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่มาประกอบกันเข้าแล้วเรียกตามบัญญัติว่า มนุษย์ หมายเอาตั้งแต่การปรากฏขึ้นของจิตหรือวิญญาณดวงแรกในครรภ์มารดาจนกระทั่งคลอดออกมาจากครรภ์แล้วดำรงชีวิตอยู่ตราบเท่าวาระสุดท้ายของชีวิต รวมระยะเวลาทั้งหมดดังกล่าวนี้เรียกว่าภพชาติหนึ่งของชีวิต ส่วนการเกิดในทัศนะของศาสนาฮินดูเกี่ยวกับจักรวาลและพระผู้เป็นเจ้า จะมีความสัมพันธ์กันด้วยการอธิบายพระผู้เป็นเจ้าในรูปจักรวาลและเชิงปรัชญา โดยเชื่อว่าพรหมเป็นบุคคลแรกที่เกิดขึ้นระหว่างเทพทั้งหลายเป็นผู้สร้างโลก รักษาโลก และสอนพรหมวิทยา กระบวนการกำเนิดจักรวาล และสิ่งมีชีวิตว่าเกิดจากเจตจำนงของ       พระผู้เป็นเจ้า  ซึ่งต้องการจะสร้างนามรูปต่าง ๆ ขึ้นมา  เพื่อแสดงถึงความมีอยู่จริงเหนือกาล และความมีอำนาจสิทธิ์ขาดอยู่เหนือทุกสิ่งของพระผู้เป็นเจ้า หลังจากที่พระผู้เป็นเจ้าได้สร้างจักรวาลขึ้นจากพระองค์เองแล้ว  ภาวะของพระองค์ซึ่งมีอยู่ในร่างกายของสัตว์โลกทั้งปวงที่เรียกว่าชีวาตมันหรือบุรุษ  ยังเป็นเหตุให้สัตว์โลกเกิดมีสภาวะเป็นปัจเจกบุคคล  คือความมีตัวตน  ซึ่งเป็นผู้รู้ผู้กระทำ และผู้เสวยผลกรรม  วัฏสงสารจึงเกิดมีขึ้น 

 

คติความเชื่อของการเกิดมาเป็นมนุษย์  ทัศนะทั้งศาสนาพุทธและศาสนาฮินดูไม่มีอะไรที่แตกต่างกัน กล่าวคือ มนุษย์ที่เกิดตามคติความเชื่อที่กล่าวไว้ในคัมภีร์ พระพุทธศาสนากล่าวว่า มนุษย์จุติมาจากอาภัสสรพรหมที่หมดบุญ ทางศาสนาฮินดู ก็กล่าวว่า พระพรหมเป็นผู้สร้างมนุษย์ ในส่วนของทัศนะที่แตกต่างกัน ศาสนาฮินดูกล่าวว่าสรรพสิ่งทั้งหลายในโลกนี้พระพรหมเป็นผู้สร้าง ส่วนพระพุทธศาสนา กล่าวว่าสรรพสิ่งล้วนเกิดจากเหตุปัจจัย ซึ่งเป็นเหตุเป็นผลของกันและกัน และดับไปเพราะเหตุปัจจัยนั้นดับลง

เหตุปัจจัยที่ทำให้เกิด แนวคิดที่เหมือนกันของทั้งสองศาสนา คือ มนุษย์เกิดมาจากพรหม  ส่วนแนวคิดที่แตกต่างกัน พระพุทธศาสนา กล่าวว่า กรรม (การกระทำ) เป็นเหตุปัจจัยที่เป็นส่วนหนึ่งที่นำชีวิตมาเกิด บิดามารดามีเพศสัมพันธ์ มารดาอยู่ในวัยที่ยังมีระดู มีคันธัพพะ (ปฏิสนธิวิญญาณ) มาเกิดในครรภ์ ทางศาสนาฮินดู กล่าวว่า ปรมาตมัน (ปุรุษะ) ที่เป็นต้นกำเนิดพืชพันธุ์ของชีวิต กล่าวคือลูกกรอกที่อยู่ในร่างกายของมนุษย์ โดยการนำเชื้อชีวิตใส่เข้าไปในกายสตรี  ลูกกรอกนั้นก็จะบังเกิดเป็นมนุษย์

กระบวนการของการเกิด แนวคิดที่เหมือนกันทั้งสองศาสนา คือ มีความเชื่อว่าการที่บุคคลที่ได้ปฏิบัติธรรมตามสมควรแก่ธรรมที่ตนได้ปฏิบัตินั้น  ก็จะได้ไปเกิดในภพภูมิที่ดี หรือบุคคลที่ปฏิบัติธรรม บำเพ็ญตบะอย่างแก่กล้าจนกระทั่งตัดรากของอวิชชาได้ก็จะไม่ต้องกลับมาเกิดอีก หากบุคคลกระทำแต่อกุศลกรรมการไปเกิดก็จะไปในทางต่ำ ส่วนแนวคิดที่แตกต่างกัน พระพุทธศาสนากล่าวว่า ชีวิตเกิดขึ้นได้เพราะมีเหตุปัจจัยที่เชื่อมโยงอิงอาศัยซึ่งกันและกันเป็นไป สืบต่อกันด้วยเหตุปัจจัย  สิ่งหนึ่งเกิดจึงทำให้อีกสิ่งหนึ่งเกิด สืบต่อกันดั่งห่วงโซ่ที่คล้องกันไว้มิได้ขาดตอน  ส่วนทางศาสนาฮินดู มีทัศนะว่าทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นอยู่กับพระผู้สร้าง (พระพรหม) เป็นผู้ให้กำเนิดสรรพสิ่งทั้งหลาย

เป้าหมายของการเกิด แนวคิดที่เหมือนกันทั้งสองศาสนา คือเรื่องของการหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดไม่ต้องกลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีก ในทางพระพุทธศาสนาก็คือการปฏิบัติจนบรรลุธรรมสูงสุดเป็นพระอรหันต์ ซึ่งเป็นการตัดภพตัดชาติไม่ต้องกลับมาเกิด ส่วนทางศาสนาฮินดูก็มีการปฏิบัติเพื่อให้เกิดมีความเป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้า (พระพรหม) เพื่อที่จะได้ไม่ต้องกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ นับเป็นจุดหมายสูงสุดของทั้งสองศาสนา ส่วนแนวคิดที่แตกต่างกัน คือ พระพุทธศาสนาสอนเรื่องการปฏิบัติที่เป็นมัชฌิมาปฏิปทาทางสายกลางข้อปฏิบัติเป็นกลาง ๆ ไม่หย่อนจนเกินไปและไม่ตึงจนเกินไป  ดำเนินด้วยปัญญานำไปสู่ปัญญาอันพอดีที่จะให้ถึงจุดหมาย คือ ความดับกิเลส และ   ความพ้นทุกข์ ได้แก่ มรรคมีองค์ ๘ โดยการเจริญสติปัฏฐาน ๔ ส่วนศาสนาฮินดู มีการปฏิบัติของพวกสันยาสี คือ การปฏิบัติโยคะ ๔ ขั้น การประกอบตนให้ลำบาก คือ ความพยายามเพื่อบรรลุผลที่หมายด้วยวิธีทรมานตนเอง เช่น การบำเพ็ญตบะต่าง ๆ ที่นิยมกันในหมู่นักบวชอินเดีย

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕