หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » นายศุภกาญจน์ ชยาพัฒน์
 
เข้าชม : ๑๙๙๙๗ ครั้ง
การศึกษาเชิงวิเคราะห์เรื่องความเป็นผู้ว่าง่ายสอนง่ายในพระพุทธศาสนาเถรวาท(๒๕๔๙)
ชื่อผู้วิจัย : นายศุภกาญจน์ ชยาพัฒน์ ข้อมูลวันที่ : ๒๓/๐๘/๒๐๑๐
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระสุธีธรรมานุวัตร
  นาย รังษี สุทนต์
  นายสนิท ศรีสำแดง
วันสำเร็จการศึกษา : มีนาคม ๒๕๔๙
 
บทคัดย่อ

     วิทยานิพนธ์เล่มนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาเชิงวิเคราะห์เรื่องความเป็นผู้ว่าง่ายสอนง่ายศึกษาหลักธรรมที่เกี่ยวข้องกับความเป็นผู้ว่าง่ายสอนง่าย ที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท ตลอดจนการนำไปประยุกต์ใช้หลักธรรมความเป็นผู้ว่าง่ายสอนง่ายไปใช้ในสังคมปัจจุบันตามแนวทางพระพุทธศาสนาเถรวาทผลของการวิจัยพบว่า ความเป็นผู้ว่าง่ายสอนง่ายเป็นหลักธรรมสำคัญที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงจัดไว้เป็นมงคลสูงสุดข้อหนึ่งใน ๓๘ ข้อ และในนาถกรณธรรม อีกทั้งทำให้ทราบลักษณะบุคลิกของผู้ว่าง่ายสอนง่ายมีพฤติกรรมสำคัญๆ ๓ ประการ คือ รับฟังด้วยความเคารพ ทำตามคำสอนด้วยความเคารพ และสำนึกในบุญคุณของผู้สอน ส่วนประเภทของคนว่าง่ายสามารถแบ่งได้ ๒ ประเภท คือ ประเภทควรแก่การสรรเสริญ และประเภทไม่ควรแก่การสรรเสริญ การฝึกตนเป็นผู้ว่าง่ายสอนง่ายปรากฏในอนุมานสูตร เพื่อนำมาพิจารณาตนเอง แล้วนำมาเป็นกระบวนวิธีพิจารณาสำรวจตรวจสอบเทียบเคียงกับตัวเองโดยใช้หลักธรรม คือธรรมที่ทำให้เป็นผู้ว่าง่าย ๑๖ประการ ส่วนกรณีตัวอย่างของผู้ว่าง่ายสอนง่ายในหัวข้อวิจัยนี้ศึกษาเฉพาะกรณีของ พระราธเถระและชาดกต่างๆ อาทิ ติปัลลัตถมิคชาดก วลาหกัสสชาดก นันทิวิสาลชาดก กัสสปมันทิยชาดก และอุปสิงฆปุปผชาดกหลักธรรมที่เกี่ยวข้องกับความเป็นผู้ว่าง่ายสอนง่าย ที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท คือ หลักมงคลสูตร เป็นแนวทางการดำเนินชีวิตไปสู่ความเป็นเหตุแห่งความเจริญอันนำประโยชน์สุขแก่ตน และผู้อื่น หลักนาถกรณธรรม ๑๐(เป็นธรรมที่เป็นอุปการะต่อความเป็นผู้ว่าง่าย เพราะ เป็นหลักธรรมอันเป็นที่พึ่งแก่ตนเอง) กัลยาณมิตรธรรม ๗ เป็นธรรมที่ผู้ว่าง่ายเข้าไปหา
แล้วย่อมก่อให้เกิดความดีงามและความเจริญก้าวหน้าต่อชีวิต เพื่อความบริบูรณ์แก่ผู้ว่าง่าย ธรรมทำให้งาม ๒เป็นหลักธรรมที่เกื้อหนุนต่อธรรมอันทำให้เป็นผู้ว่าง่ายสอนง่าย เพราะผู้เตือนเห็นอาการของผู้ถูกเตือนสงบเสงี่ยม ย่อมเกื้อกูล ให้โอวาทโดยสะดวก ธรรมเทศกธรรม ๕ เป็นหลักธรรมสำหรับผู้ตักเตือนหรือผู้ชี้โทษ เพราะผู้ชี้โทษ หรือผู้ตักเตือนที่ดีนั้นควรตั้งเอาไว้ในใจเพราะการแสดงโทษ หรือให้โอวาทสั่งสอนตักเตือนคนอื่นนั้นไม่ใช่ทำได้ง่าย จักร ๔ เป็นหลักการสำหรับผู้ชี้แนะ ตักเตือน และโยนิโสมนสิการ เป็นจุดเริ่มแห่งการปฏิบัติโดยชอบธรรม
การนำหลักพุทธธรรมที่ว่าด้วยความเป็นผู้ว่าง่ายสอนง่ายไปประยุกต์ใช้ในสังคมปัจจุบันตามแนวทางพระพุทธศาสนาเถรวาท เช่นด้านครอบครัว สามารถใช้การปวารณา การกำราบ และการลงโทษ และให้ปฏิบัติตามหลักทิศ ๖ พร้อมด้วยโยนิโสมนสิการ และปรโตโฆสะควบคู่กันไปด้วย ด้านการศึกษา เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาต้องมีการปฏิบัติตามหลักทิศ ๖โดยเฉพาะทิศเบื้องขวา ปัญญาวุฑฒิสูตร ๔ และประกอบด้วยธรรมอันเป็นผู้ว่าง่ายสอนง่าย ด้านสังคม เพื่อความสงบสันติสุข และเป็นปัจจัยเกื้อหนุนไปสู่ความดีงามต่างๆในสังคม ต้องประยุกต์หลักพุทธธรรมมาใช้กับสังคม เช่น เป็นผู้ว่านอนสอนง่าย การเคารพเชื่อฟัง พละ ๔ ทิศ ๖สาราณียธรรม ๖ และวัชชีอปริหานิยธรรม ๗ และด้านการพัฒนาชีวิต เมื่อฝึกตนเป็นผู้ว่าง่ายสอนง่ายแล้วจะสามารถพัฒนาชีวิตไปสู่ความดีงามต่างๆมากมาย
Download : 254922.pdf

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕