หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระครูสุทธิสารโสภิต (สิทธิพงษ์ สุทฺธิญาโณ, นาคเสวก)
 
เข้าชม : ๑๙๙๙๖ ครั้ง
ศึกษาความสำคัญของกุศลกรรมบถในการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามแนวทางพระพุทธศาสนาเถรวาท
ชื่อผู้วิจัย : พระครูสุทธิสารโสภิต (สิทธิพงษ์ สุทฺธิญาโณ, นาคเสวก) ข้อมูลวันที่ : ๒๘/๐๔/๒๐๑๗
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระครูพิพิธวรกิจจานุการ
  เสนาะ ผดุงฉัตร
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๘
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

             วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ ได้แก่ เพื่อศึกษาแนวคิดเรื่องกุศลกรรมบถในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท  เพื่อศึกษาเรื่องชีวิตและการพัฒนาคุณภาพชีวิตในพระพุทธศาสนาเถรวาท  และเพื่อศึกษาความสำคัญของกุศลกรรมในการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามแนวทางพระพุทธศาสนาเถรวาท โดยการศึกษาข้อมูลจากคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท ได้แก่ พระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา และคัมภีร์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เรียบเรียง บรรยาย ตรวจสอบ โดยอาจารย์ที่ปรึกษา และผู้เชี่ยวชาญ

             จากการศึกษาพบว่า  กรรมบถ หมายถึง ทางแห่งกรรมดี,ทางทำดี, ทางแห่งกรรมที่เป็นกุศล, กรรมดีอันเป็นทางนำไปสู่ความสุขความเจริญหรือสุคติ) เป็นธรรมส่วนสุจริต ๑๐ ประการ จึงเรียกชื่อว่า กุศลกรรมบถ ๑๐  ที่เป็นกายกรรม มี ๓ อย่าง คือ ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม  ที่เป็นวจีกรรม มี ๔ คือ ไม่พูดเท็จ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดเพ้อเจ้อ  ที่เป็นมโนกรรม มี ๓ คือ ไม่โลภอยากได้ของเขา ไม่พยาบาทปองร้าย เห็นชอบตามคลองธรรม

             ชีวิตเป็นสิ่งที่ถูกปรุงแต่งขึ้นมาตามเหตุปัจจัยสืบเนื่องต่อกัน  มีความเกิดขึ้นตั้งอยู่  และดับไป มีการเกิดดับไหลเวียนเปลี่ยนแปรไปมาตลอดเวลา ชีวิตจึงไม่คงที่แน่นอนตามกฎไตรลักษณ์  ดังนั้น  เมื่อชีวิตมีจุดเริ่มต้น  ย่อมมีจุดสิ้นสุดไปตามธรรมดาของกฎธรรมชาติ  การพัฒนา เป็นการเรียนรู้ ฝึกหัด พัฒนาตนให้เต็มศักยภาพของมนุษย์ เพราะการมีศักยภาพที่ดีจะทำให้ชีวิตดีงาม ทำให้โลกรื่นรมย์ และทำให้สังคมให้มีแต่สันติสุข โดยมนุษย์สามารถพัฒนาให้รู้ ให้เข้าใจ ให้ทำได้ ให้ทำเป็น ทำให้งดงามและทำให้เป็นประโยชน์ พร้อมๆ กัน ๔ ทาง คือ การพัฒนาทางด้านกายภาพ การพัฒนาศีลธรรม  การพัฒนาทางด้านจิตใจ และการพัฒนาทางด้านปัญญา ซึ่งสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการเปลี่ยนแปลงฟื้นฟู และปรับปรุงทั้งตนเอง และสังคมรอบข้างให้ดีขึ้นและมีความหมายมากยิ่งขึ้น การพัฒนามนุษย์ จึงเป็นการมองคนในฐานะเป็นมนุษย์ คือ มนุษย์มี ความเป็นมนุษย์ของเขาเอง โดยชีวิตมนุษย์นั้นมีจุดหมายของชีวิตคือ ความสุข อิสรภาพ ความดีงามของชีวิต

             กุศลกรรมบถ ๑๐ มีความสำคัญเป็นฐานเบื้องต้นในการพัฒนาคุณภาพชีวิตทั้งตนเองและสังคมรอบตัว ก็เพราะกุศลกรรมบถ เป็นกระบวนการพัฒนาความเป็นมนุษย์ ซึ่งเป็นการศึกษาเรียนรู้ของมนุษย์นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการศึกษาและพัฒนาทั้ง ๓ ด้านไป พร้อมๆกัน คือ ด้าน พฤติกรรม กาย วาจา ด้านจิตใจ และด้านปัญญา ซึ่งเป็นหลักการสำคัญของการพัฒนามนุษย์ ล้วนเป็นการประยุกต์หลักของกุศลกรรมบถในการพัฒนาสังคมให้ก้าวหน้า ให้เกิดประสิทธิภาพสำหรับมนุษย์ที่อยู่ในสังคมนี้ได้ เพราะการใช้หลักของกุศลกรรมบถ ๑๐ เป็นการแสดงออกทางกาย และวาจา เป็นความประพฤติที่ดีงาม เป็นการปฏิบัติหน้าที่ของมนุษย์ต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕