หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระสมุห์มานัส อคฺคปญฺโญ (วงศ์สาขา)
 
เข้าชม : ๑๙๙๙๖ ครั้ง
ศึกษาเมตตาเจโตวิมุตติอันเป็นบาทฐานในการบรรลุธรรม
ชื่อผู้วิจัย : พระสมุห์มานัส อคฺคปญฺโญ (วงศ์สาขา) ข้อมูลวันที่ : ๒๖/๐๔/๒๐๑๗
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(วิปัสนาภาวนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาสันติ นาควโร
  บุณชญา วิวิธขจร
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๘
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

             วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ เพื่อศึกษาการบรรลุธรรมในคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท เพื่อศึกษาเมตตาเจโตวิมุตติในคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท เพื่อศึกษาเมตตาเจโตวิมุตติอันเป็นบาทฐานในการบรรลุธรรม โดยการศึกษาข้อมูลจากคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท คือพระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา และคัมภีร์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง แล้วนำมาเรียบเรียงบรรยายเป็นเชิงพรรณนาเสนอผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบ แล้วแก้ไขตามคำแนะนำ

             จากการวิจัยพบว่า การบรรลุธรรม คือ การพัฒนาปัญญาให้เกิดญาณหยั่งรู้แจ้งอริยสัจ๔ ตามระดับโลกุตตรธรรม ๙ คือ มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ บรรลุคุณธรรมสำเร็จเป็นพระอริยบุคคล ๔ จำพวก ได้แก่ พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์  ส่วนพระอริยบุคคลชั้นสูงสุด คือ พระอรหันต์ละสังโยชน์ได้ ๑๐ อย่าง คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส กามราคะ ปฏิฆะ รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ และอวิชชาโดยสิ้นเชิง

            เมตตาเจโตวิมุตติ เป็นเมตตาที่เกิดจากตติยฌาน และจตุตถฌาน พ้นจากปัจจนีกธรรม (ธรรมที่เป็นข้าศึก) กล่าวคือนิวรณ์ ๕ ประการ ได้แก่ กามฉันทะ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ และวิจิกิจฉา เมตตาเจโตวิมุตติ เป็นความหลุดพ้นทางจิตด้วยอำนาจเมตตา หลักสำคัญในการเจริญวิปัสสนาภาวนาพบว่า ผู้เจริญเมตตา จิตคิดถึงธรรมนั้น ชื่อว่าเจโตจิตพ้นจากพยาบาทและกิเลสที่กลุ้มรุมจิตทั้งปวง จึงชื่อว่าวิมุตติเมตตาด้วย เป็นเจโตวิมุตติด้วยเพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่าเมตตาเจโตวิมุตติ  ประโยชน์จากการเจริญเมตตาเจโตวิมุตตินี้ ทำให้ได้ทั้งวิชชาและวิมุตติ

             จากการศึกษาเมตตาเจโตวิมุตติ พบว่า แนวทางการเจริญภาวนาแบบสมถยานิก คือ การเจริญวิปัสสนาโดยอาศัยวิธีการของสมถะเป็นบาทฐานก่อน  ทำองค์ฌานเป็นเมตตาฌาน ให้เกิดขึ้นเป็นวสีภาวะ ยกจิตออกจากองค์ฌาน พิจารณาเห็นพระไตรลักษณ์ โดยสรุปได้แก่ รูป-นาม ซึ่งเป็นแดนเกิดของปัญญา โดยผ่านกระบวนการปฏิบัติกรรมฐานตามหลักสติปัฏฐาน ๔ เห็นความเสื่อมไปและสิ้นไปของสังขารทั้งหลาย ด้วยวิปัสสนาปัญญา เห็นแจ้งในอริยสัจ ๔ เป็นผลให้วิชชาสมบูรณ์และบังเกิดวิมุตติทั้งสองส่วน  พ้นจากรูปกายด้วยอรูปสมาบัติ และพ้นจากกิเลสด้วยอริยมรรค.

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕