หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระครูปลัดนิคม นาควโร (รอดอุไร)
 
เข้าชม : ๒๐๐๐๓ ครั้ง
ศึกษารูปแบบการสอนวิปัสสนาภาวนาเฉพาะกรณีสำนักวิปัสสนา วัดสุวรรณประสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร
ชื่อผู้วิจัย : พระครูปลัดนิคม นาควโร (รอดอุไร) ข้อมูลวันที่ : ๒๖/๐๔/๒๐๑๗
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(วิปัสนาภาวนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระครูพิพิธวรกิจจานุการ
  เสนาะ ผดุงฉัตร
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๘
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

             วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการคือ เพื่อศึกษาหลักการปฏิบัติวิปัสสนาในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท ๔ แบบ เพื่อศึกษาแนวทางการสอนวิปัสสนาในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท และเพื่อศึกษารูปแบบการสอนวิปัสสนาภาวนาเฉพาะกรณีสำนักวิปัสสนาวัดสุวรรณประสิทธิ์ โดยศึกษาข้อมูลจากพระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา คัมภีร์ปกรณวิเสส             วิสุทธิมรรค เอกสารทางวิชาการและตำราอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง แล้วนำมาเรียบเรียง บรรยายเชิงพรรณนา จากการศึกษาพบว่า

             หลักการปฏิบัติวิปัสสนาในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท ๔ แบบ คือ ๑) สมถปุพพังคมวิปัสสนา วิปัสสนามีสมถะนำหน้า เพราะมีสภาวะพิจารณาเห็นธรรมที่เกิดในสมาธินั้น โดยความไม่เที่ยง โดยความเป็นทุกข์ โดยความเป็นอนัตตา สมถะจึงมีก่อน วิปัสสนามีภายหลัง ๒) วิปัสสนา ปุพพังคมสมถะ สมถะมีวิปัสสนานำหน้า เพราะมีสภาวะพิจารณาเห็นโดยความไม่เที่ยง ชื่อว่าวิปัสสนา เพราะมีสภาวะพิจารณาเห็นโดยความเป็นทุกข์ ชื่อว่าวิปัสสนา เพราะมีสภาวะพิจารณาเห็นโดยความเป็นอนัตตา สภาวะที่จิตปล่อยธรรมทั้งหลาย ที่เกิดในวิปัสสนานั้นเป็นอารมณ์ และสภาวะที่จิตเป็นเอกัคคตารมณ์ไม่ฟุ้งซ่าน เป็นสมาธิ วิปัสสนาจึงมีก่อน สมถะมีภายหลัง ๓) ยุคนัทธสมถวิปัสสนา สมถะและวิปัสสนาเข้าคู่กันเพราะมีสภาวะพิจารณาเห็น มีนิโรธเป็นอารมณ์ ด้วยประการดังนี้ สมถะและวิปัสสนาจึงมีรสเป็นอย่างเดียวกัน เป็นคู่กัน ไม่ล่วงเลยกันด้วยมีสภาวะเป็นอารมณ์ ๔) ธัมมุทธัจจวิคคหิตมานัส วิธีเจริญเมื่อจิตถูกชักนำให้คลาดเคลื่อนด้วยธัมมุทธัจจ์ เพราะมีญาณ เพราะมีปีติ เพราะมีปัสสัทธิ เพราะมีสุข เพราะมีอธิโมกข์ เพราะมีปัคคหะ เพราะมีอุปัฏฐาน เพราะมีอุเบกขา เพราะน้อมนึกถึงอุเบกขาและนิกันติ

             แนวทางการสอนวิปัสสนาในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท พบว่า การปฏิบัติ       สมถภาวนามี ๔๐ วิธี และการปฏิบัติวิปัสสนาภาวนามี ๔ วิธี หลักการเจริญภาวนานั้นตามคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาทเป็นการสอนโดยมีสมถนำหน้า หรือวิปัสสนานำหน้าซึ่งเรียกว่า สมถยานิกสมาธิ หมายถึง สมาธิอันเป็นไปโดยอาศัยสมถเป็นบาทในการเข้าสู่วิปัสสนาสมาธิ และวิปัสสนายานิก คือผู้มีวิปัสสนาเป็นยานเป็นเครื่องนำ ได้แก่ ผู้เจริญวิปัสสนาโดยยังไม่ได้ฌานสมาบัติก่อนนั้นเอง

             รูปแบบการสอนวิปัสสนาภาวนาเฉพาะกรณีสำนักวิปัสสนาวัดสุวรรณประสิทธิ์ พบว่า เป็นการสอนปฏิบัติตามแนวมหาสติปัฏฐาน ๔ เมื่อมีผู้เข้ามาปฏิบัติวิปัสสนา ทางสำนักเริ่มต้นด้วยการให้ตั้งใจเพียรปฏิบัติ ตัดความกังวล เข้าหากัลยาณมิตร และฝึกฝนอย่างเต็มความสามารถ เพื่อจะนำไปสู่การบรรลุธรรมได้ตามปัญญาของแต่ละบุคคล โดยมีสติเป็นฐานทุกปัจจุบันขณะ จะทำให้เกิดสมาธิ มีปัญญา เห็นแจ้ง ในสภาวะความจริงอันประเสริฐทั้งหลาย ทางสำนักวัดสุวรรณประสิทธิ์จะสอนเน้นเรื่องการตรวจสอบจริตของผู้มาปฏิบัติก่อน และจะเก็บรายละเอียดจากอิริยาบถย่อย เพื่อให้ผู้ปฏิบัติเห็นสภาวะความเป็นจริงของกาย เวทนา จิต ธรรม เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่ผู้ปฏิบัติใส่ใจเพ่งพิจารณาในอิริยาบถย่อยอย่างแยบคาย (โยนิโสมนสิการ) ผู้ปฏิบัติก็จะเห็นการทำงานของกายกับจิต และจะเข้าใจความเป็นจริงของธรรมชาติ คือรูปนามตามหลักไตรลักษณ์ พุทธประสงค์ของการเจริญวิปัสสนาคือการกำหนดรูปและนามเป็นอารมณ์ ซึ่งเป็นกฎตายตัว ถ้าผิดจากนี้ไม่ใช่วิปัสสนา ถ้าการกำหนดรูปใหญ่ไม่ได้ผลหรือได้ผลน้อย ก็ให้กำหนดรูปที่ละเอียดขึ้นไป ซึ่งได้แก่ รูปที่ลมหายใจถูกต้อง คือ ลมหายใจเข้าออกไปกระทบถูกที่ใด ก็ให้กำหนดที่นั้น สถานที่ลมหายใจถูกมี ๒ แห่ง คือ ที่จมูก และที่ท้อง ที่จมูกจะปรากฏชัดเฉพาะช่วงแรกเท่านั้น เมื่อลมละเอียดมาก ๆ จะปรากฏไม่ชัดเจน ส่วนลมที่บริเวณท้อง สภาวะปรากฏ คือ พอง-ยุบ สามารถกำหนดได้ชัดเจนสม่ำเสมอ แม้ว่าจะกำหนดได้ค่อนข้างยากในช่วงแรก เมื่อกำหนดไปอย่างจดจ่อต่อเนื่องทุกขณะปัจจุบัน ลมที่ละเอียดนั้น ก็สามารถกำหนดรู้ได้ และจะแสดงสภาวะได้ชัดเจนกว่าลมที่จมูก ดังนั้นพระวิปัสสนาจารย์ สำนักวิปัสสนาวัดสุวรรณประสิทธิ์ จึงใช้เป็นรูปแบบในการสอนวิปัสสนาภาวนาซึ่งเป็นไปตามหลักสติปัฏฐาน ๔

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕