หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหาขุนทอง เขมสิริ (แก้วสมุทร์)
 
เข้าชม : ๑๙๙๘๘ ครั้ง
สถานภาพทางศีลธรรมและสิทธิของสัตว์ในพระพุทธศาสนาเถรวาท
ชื่อผู้วิจัย : พระมหาขุนทอง เขมสิริ (แก้วสมุทร์) ข้อมูลวันที่ : ๐๘/๐๓/๒๐๑๗
ปริญญา : พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาสมบูรณ์ วุฑฺฒิกโร
  วีรชาติ นิ่มอนงค์
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๗
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

 

               งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์การศึกษา ๓ ประการ คือ ๑) เพื่อศึกษาแนวคิดสถานภาพทางศีลธรรมและสิทธิของสัตว์  ๒) เพื่อศึกษาวิเคราะห์สถานภาพทางศีลธรรมและสิทธิของสัตว์ในพระพุทธศาสนาเถรวาท  และ ๓) เพื่อศึกษาเสนอแนวทางการปฏิบัติต่อสัตว์ตามหลักพระพุทธศาสนา เถรวาท

               ผลจากการศึกษาพบว่า

               ๑) สัตว์เดรัจฉานนั้นมีลักษณะสำคัญเชิงชีววิทยาหรือวิวัฒนาการ ร่างกายของสัตว์จึงมีองค์ประกอบซับซ้อนมากมายเหมือนกับมนุษย์  มีความเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติในองค์แห่งชีวภพเช่นเดียวกับมนุษย์และพืช มนุษย์ยกสถานภาพตนเองเป็นศูนย์กลางของโลกด้วยเหตุผลและภาษาจึงจัดให้สัตว์มีสถานภาพที่ต่ำกว่ามนุษย์ การทารุณกรรรมสัตว์ เช่น การลักลอบค้าขายสัตว์ การลักลอบจับสัตว์ หรือการแข่งขันสัตว์ เป็นต้น มีสาเหตุภายนอกจากเรื่องเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมและประเพณี ปัญหานี้มีผลกระทบต่อกฎหมายและศีลธรรม เพราะขาดกฎหมายสิทธิของสัตว์ จึงมีการเรียกร้องจากองค์กรหรือสมาคมต่าง ๆ แนวคิดที่นำมาสนับสนุนคือ ๑) ทฤษฎีสิทธิของสัตว์ (Animal Rights Approach) โดย ปีเตอร์  ซิงเกอร์ นักสิทธิสัตว์ที่คัดค้านการทารุณกรรมต่อสัตว์ทุกประการ ซิงเกอร์โต้แย้งกลุ่มที่ยึดเอามนุษย์เป็นศูนย์กลางที่มองว่าสัตว์นั้นมีสถานภาพต่ำกว่ามนุษย์และไม่มีสถานภาพทางศีลธรรม จึงเห็นว่าสัตว์ควรมีสถานภาพเท่าเทียมกับมนุษย์และมีสิทธิทางศีลธรรมเพราะพฤติกรรมเชิงคุณค่าทางศีลธรรมและความรู้สึกที่ไม่แตกต่างจากมนุษย์ ซิงเกอร์ได้เสนอทางออกไว้หลายอย่าง เช่น ล้มเลิกการใช้สัตว์ทดลอง การดักจับสัตว์ และการบริโภคมังสวิรัติ  เป็นต้น ส่วนแนวคิดนิเวศวิทยาแนวลึกนั้น มีทั้งที่เห็นด้วยคือไม่ควรทารุณกรรมต่อสัตว์  และคัดค้านกลุ่มสิทธิของสัตว์คือมองเพียงแค่ระบบย่อยเรื่องเรื่องเกี่ยวกับสัตว์ในฐานะที่เป็นสมาชิกของระบบนิเวศวิทยาแนวลึกเพียงอย่างเดียว และเสนอหลักการที่เป็นองค์รวมเพื่อระบบนิเวศวิทยาแนวลึก ทุกชีวิตมีความสำคัญเท่าเทียมกันและมีสิทธิเท่ากันจึงควรที่ร่วมกันปกป้องระบบนิเวศวิทยาธรรมชาติไว้ให้สมบูรณ์ที่สุด

               ๒)  การทารุณกรรมต่อสัตว์นั้นเกิดขึ้นมานาน สาเหตุแห่งปัญหาภายในนั้นคือ โลภะ โทสะ และโมหะ สัตว์นั้นไม่มีความสามารถที่จะบรรลุธรรมได้เพราะข้อจำกัดด้านร่างกายและด้านจิตใจ แต่สัตว์ก็มีพฤติกรรมคุณค่าเชิงศีลธรรม เช่น ๑) คุณค่าจากความสามารถในการกระทำความดี           ๒)  คุณค่าจากความดีที่ได้สั่งสมไว้ในอดีตชาติ  และ ๓) คุณค่าจากความสามารถในการมีความรู้สึกสุข  ทุกข์ และรักชีวิต  ซึ่งเป็นการให้สถานภาพทางศีลธรรมกับสัตว์อย่างชัดเจน ส่วนสิทธินั้นไม่มีในพระพุทธศาสนาซึ่งกล่าวถึงหน้าที่มากกว่า เช่น หลักทิศ ๖ หรือเมตตากรุณา เป็นต้น แต่สิทธิก็เข้ากันได้กับเรื่องหน้าที่ ได้แก่ ๑) ปาณาติบาต : สิทธิทางธรรมชาติซึ่งขยายครอบคลุมสิทธิในการดำรงชีวิต สิทธิตามกฎหมาย เป็นการให้ความคุ้มครองสัตว์ เช่น ให้อิสรภาพ ความเท่าเทียมกัน และการคุ้มกันทางศีลธรรม  ๒) กรรม : สิทธิทางศีลธรรมของสัตว์ สัตว์ที่ทำกรรมแล้วย่อมสมควรที่จะได้รับผลของการกระทำนั้นด้วย ดังนั้น สัตว์จึงมีอีกสิทธิหนึ่งคือสิทธิในทางกรรม  

               ๓)  พระพุทธศาสนาเน้นที่เหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาและแก้ไขที่ตัวเหตุปัจจัยด้วยตัวของมนุษย์เองเป็นหลัก วิธีการแก้ไขปัญหาคือให้ใช้หลักคำสอน วิธีการ และการประยุกต์ใช้คำสอนเพื่อปฏิบัติต่อสัตว์ เช่น ความเมตตากรุณา การไม่เบียดเบียน และกฎแห่งกรรม เป็นต้น ซึ่งสามารถประยุกต์ใช้กับสถานการณ์ที่เป็นจริง กล่าวคือ ๑) การเลี้ยงสัตว์เลี้ยง  ๒) การบริโภคเนื้อสัตว์         ๓) การค้าขายสัตว์  ๔) การใช้สอยเฟอร์นิเจอร์เกี่ยวกับสัตว์  และ ๕) การใช้สัตว์ทดลอง     

            สรรพสัตว์ย่อมรักชีวิตตนเอง รักสุขเกลียดทุกข์ พระพุทธศาสนาคัดค้านการฆ่าและการทารุณกรรมต่อสัตว์ โดยเสนอศีลปาณาติบาตและกรรมเพื่อคุ้มครองชีวิตของสรรพสัตว์ไม่ให้ถูกเบียดเบียน และให้สถานภาพทางศีลธรรมและสิทธิแก่สัตว์ ดังนั้น เมื่อนำมาปฏิบัติเชื่อมโยงกับแนวคิดทฤษฎีและกฎหมายแล้ว สามารถที่จะลดการทารุณกรรมต่อสัตว์ได้

ดาวน์โหลด

 

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕