หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหาเดชาธร สุภชโย (กนกรัตนาพรรณ)
 
เข้าชม : ๒๐๐๑๙ ครั้ง
การศึกษาวิเคราะห์หลักมหาปเทส ๔ ในสังคมไทย
ชื่อผู้วิจัย : พระมหาเดชาธร สุภชโย (กนกรัตนาพรรณ) ข้อมูลวันที่ : ๐๒/๐๓/๒๐๑๗
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระเทพปริยัติเมธี
  พระศรีสมโพธิ
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๙
 
บทคัดย่อ

            บทคัดย่อ

               

               วิทยานิพนธ์เรื่อง การศึกษาวิเคราะห์หลักมหาปเทส ๔ ในสังคมไทย โดยมีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ  ๑)  เพื่อศึกษาหลักมหาปเทส ๔ ในพระพุทธศาสนา  ๒)  เพื่อศึกษาบริบทมหาปเทส ๔ ในสังคมไทย  ๓)  เพื่อวิเคราะห์หลักมหาปเทส ๔ ในสังคมไทย งานวิจัยนี้เป็นงานวิจัยเชิงเอกสาร (Documentary Research) โดยศึกษาและรวบรวมข้อมูลจากพระไตรปิฎก อรรถกถา เอกสาร ตำราวิชาการ หนังสือ และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง และนำมาวิเคราะห์ นำเสนอสรุปการวิจัยด้วยวิธีนำเสนอผลการวิจัยเชิงพรรณนา

ผลการวิจัยพบว่า

๑. หลักมหาปเทส ๔ ในพระพุทธศาสนา หมายถึง ที่อ้างอิงข้อใหญ่, หลักใหญ่สำหรับอ้างเพื่อสอบสวนเทียบเคียง เกณฑ์การตัดสินหรืออ้างอิงในการตรวจสอบพระธรรมวินัยให้บริสุทธิ์ คือ ๑) สิ่งที่ไม่ได้ห้าม แต่อนุโลมเข้ากับสิ่งที่ไม่ควร นับว่าสิ่งนั้นไม่ควร ๒) สิ่งที่ไม่ได้ห้าม แต่อนุโลมเข้ากับสิ่งที่ควร นับว่าสิ่งนั้นควร  ๓) สิ่งที่ไม่ได้อนุญาต แต่อนุโลมเข้ากับสิ่งที่ไม่ควร นับว่าสิ่งนั้นไม่ควร   และ ๔) สิ่งที่ไม่ได้อนุญาต แต่อนุโลมเข้ากับสิ่งที่ควร นับว่าสิ่งนั้นควร, มีจุดมุ่งหมาย เพื่อเป็นการป้องกันอันตรายหรือภัยที่จะมีขึ้นหรือเกิดขึ้นกับพระธรรมวินัย, เพื่อประโยชน์แก่การตั้งมั่นของพระพุทธศาสนาในอนาคต, เพื่อเป็นหลักการตีความของพระธรรมธรและพระวินัยธรในแต่ละยุคสมัย, เพื่อความสอดคล้องในการรักษาความสามัคคีในภิกษุสงฆ์

๒. บริบทมหาปเทส ๔ ในสังคมไทย ยึดการบริโภคปัจจัย ๔ เป็นหลัก ได้แก่ ๑) การบริโภคอาหาร มีหลักเกณฑ์ในการบริโภคสิ่งของต่างๆ ตั้งแต่การได้มา การบริโภคขบฉัน และการเก็บรักษาไว้  การบริโภคน้อยจะเป็นไปเพื่อประโยชน์ในการประพฤติพรหมจรรย์ ให้พิจารณาก่อนการฉันอาหารทุกครั้ง โดยพิจารณาคุณค่าที่แท้จริง ๒) เสนาสนะ การก่อสร้างวิหาร กุฎี ให้พิจารณาถึงคุณค่าในการใช้สอย และให้คำนึงถึงคุณค่าที่แท้จริง มีไว้เพื่อป้องกันลมแดด สัตว์ร้าย และอันตรายจากฤดูกาล  เพื่อประโยชน์ในการประพฤติพรหมจรรย์ ๓) เครื่องนุ่งห่ม  การใช้สอยจีวรอย่างรู้จักประมาณ  รวมถึงการสันโดษในของที่นำมาใช้สอย  และ ๔) ยารักษาโร ใช้ในยามที่เกิดโรคภัย ไข้เจ็บ ในช่วงแรกนั้นอนุญาตให้ฉันยาดองด้วยน้ำมูตรเน่าเท่านั้น ต่อมามีผู้คนมาบวชในพระพุทธศาสนาเพิ่มมากขึ้น ปัญหาเรื่องโรคภัยซึ่งเกิดขึ้นกับพระสงฆ์มากขึ้น จึงมีการใช้ยาอื่น ๆ เพิ่มขึ้นอีกเพื่อความเหมาะสมตามยุคสมัย

๓. การใช้หลักมหาปเทส ๔ ในการตีความเกี่ยวกับพระวินัย ความประพฤติเคร่งครัดและย่อหย่อนในพระวินัย  ที่ส่งผลให้เกิดความคิดเห็นขัดแย้งกันและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการของสถาบันสงฆ์ มีกรณีศึกษา ๖ เรื่องคือ  ๑) การรับเงินทอง   ๒) การให้พร  ๓) การประเคน  ๔) การถวายน้ำปานะ ๕) การสูบบุหรี่ของพระสงฆ์ ๖) การใช้ไอที จะเห็นได้ว่า วิธีการตีความจากพระไตรปิฎกนำมาอ้างอิง เป็นเพียงการตีความเฉพาะที่เป็นการสนับสนุนในส่วนที่ตนกล่าวอ้างเท่านั้น แต่ไม่ได้เป็นการกล่าวทั้งหมด การศึกษาวิเคราะห์การใช้หลักมหาปเทส ๔ กับสังคมไทยนั้น มุ่งที่จะอธิบายถึงความเป็นมาในขอบข่ายและกระบวนการ จนถึงผลของการนำวิธีการนำ
มหาปเทส ๔ ไปใช้ รวมถึงกระบวนการแก้ปัญหาของแต่ละวิธีที่เหมาะสมกับปัญหาแต่ละชนิด
ของเหตุการณ์เรื่องนั้นๆ

ดาวน์โหลด

 

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕