หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหาเป็นเกียรติ กิตฺติวิสุทฺโธ
 
เข้าชม : ๑๙๙๙๖ ครั้ง
การศึกษาวิธีการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระพรหมวชิรญาณ(ปสฤทธ์ เขมงฺกโร)
ชื่อผู้วิจัย : พระมหาเป็นเกียรติ กิตฺติวิสุทฺโธ ข้อมูลวันที่ : ๑๖/๐๒/๒๐๑๗
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(ธรรมนิเทศ)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  จุฑามาศ วารีแสงทิพย์
  ชญาน์นันท์ หนูไชยะนันท์
  บุญเลิศ โอฐสู
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๙
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

    การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ (๑) เพื่อศึกษาพุทธวิธีการสื่อสารเพื่อ         การเผยแผ่และการสื่อสารตามหลักนิเทศศาสตร์ (๒) เพื่อศึกษาวิธีการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของ  พระพรหมวชิรญาณ (๓) เพื่อศึกษาความสอดคล้องระหว่างวิธีการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของ        พระพรหมวชิรญาณกับพุทธวิธีการสื่อสารและการสื่อสารตามหลักนิเทศศาสตร์

การวิจัยในครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงเอกสาร (Documentary Research) และเป็นการวิจัยเชิงสัมภาษณ์แบบเจาะลึก (In-Depth Interview) ผลการวิจัยพบว่า

พระพุทธเจ้าทรงประดิษฐานให้พระพุทธศาสนามั่นคง มีกระบวนการนำพระพุทธศาสนาให้ขยายกว้างไปยังภูมิภาคต่างๆ ทรงประกอบด้วยพระคุณสมบัติส่วนพระองค์เป็นแบบอย่าง ถ่ายทอดหลักอุดมการณ์แด่พระสาวกเพื่อใช้ในการเผยแผ่ ทรงใช้วิธีการเผยแผ่แบบประยุกต์เข้ากับสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์  สังคม จารีต ประเพณีในแต่ละท้องถิ่นที่มี                ความแตกต่างกัน  ส่วนการสื่อสารตามหลักนิเทศศาสตร์เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของมนุษย์         เป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยในการเลี้ยงชีวิตอย่างมีความสุขและการอยู่ร่วมกันในสังคมทั้งมนุษย์ และเทวดา ทั้งในด้านของสังคม ชีวิตประจำวัน อุตสาหกรรม ธุรกิจ การปกครอง การเมืองระหว่างประเทศ การสื่อสารของมนุษย์มีองค์ประกอบพื้นฐาน ๔ อย่าง คือ ผู้สื่อสาร สาร สื่อ และผู้รับสาร   ในองค์ประกอบแต่ละองค์ประกอบจะมีปัจจัยที่จะส่งเสริมหรือลดทอนประสิทธิภาพ ที่ก่อให้เกิดผลการสื่อสารออกมาดีและไม่ดี ดังนั้น การสื่อสารจึงเปรียบเหมือนทักษะที่สำคัญในการดำเนินชีวิตของมนุษย์

จุดเริ่มต้นการเผยแผ่ของพระพรหมวชิรญาณ ท่านเริ่มต้นจากการอบรมปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานเพื่อฝึกฝนตนเองให้มีความพร้อมสำหรับการเผยแผ่พระศาสนา แล้วจึงเริ่มทำการเผยแผ่ที่เป็นรูปธรรม มีการผลิตสื่อธรรมะทางช่องทางที่หลากหลาย จัดทำโครงการ บรรยายธรรม แสดงธรรม และการเผยแผ่ในต่างประเทศ ท่านเป็นพระอนุจรติดตามพระเถระผู้ใหญ่เพื่อสังเกตการณ์พระศาสนา สร้างศรัทธาแก่ผู้คนในประเทศต่างๆ ก่อตั้งหน่วยงานและสถานบันที่สำคัญต่อการเผยแผ่พระศาสนา วิธีการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ท่านยึดหลักโอวาทปาติโมกข์  อุทิศกายใจในการเผยแผ่ธรรม   มุ่งให้พุทธศาสนาแผ่ขยายกว้างไปในระดับสากล ปฏิบัติงานตามแนวทางของมหาเถรสมาคม ประกอบด้วย ๑) การปกครอง ๒) การศาสนศึกษา ๓) การศึกษาสงเคราะห์ ๔) การเผยแผ่ ๕) การสาธารณูปการ ๖) การสาธารณสงเคราะห์ เผยแผ่พระพุทธศาสนา ๖ รูปแบบ คือ พระธรรมเทศนา  ปาฐกถาและบรรยาย  สัมโมทนียกถาและอนุสสรณกถา  บทความ  กวีนิพนธ์ และผลิตสื่อธรรมทางโทรทัศน์ วิทยุ และสื่อสิ่งพิมพ์ และใช้วิธีการเผยแผ่สรุปได้ ๑๔ อย่าง คือ การอธิบายเนื้อหา การใช้ถ้อยคำ     สำนวนและลีลา  คำกลอน บทกวี  การอ้างสุภาษิต  การประยุกต์  อุปมาอุปไมย  ประสบการณ์สถานการณ์  การเปรียบเทียบ  คติธรรม  ยกอุทาหรณ์และเล่านิทาน  การอธิบายคำศัพท์            ยกบุคคลและเหตุการณ์ตัวอย่าง

การเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระพรหมวชิรญาณมีความสอดคล้องกับพุทธวิธีการสื่อสารและการสื่อสารตามหลักนิเทศศาสตร์ คือ ท่านเป็นผู้อุทิศตนเพื่อพระพุทธศาสนา ยึดหลักโอวาทปาติโมกข์เป็นอุดมการณ์ในการเผยแผ่ และยึดวิธีการเผยแผ่ตามแนวทางของพระพุทธเจ้า   ส่วนความสอดคล้องกับการสื่อสารตามหลักนิเทศศาสตร์ในฐานะผู้ส่งสาร ท่านเป็นผู้มีทักษะของผู้ส่งสารได้เป็นอย่างดี ในด้านสาร ท่านได้ผลิตสารผ่านการเข้ารหัสสาร เนื้อหาสาร และการจัดสารตามหลักนิเทศศาสตร์ออกมาในหลายรูปแบบ ในด้านสื่อ ท่านใช้สื่อในการเผยแผ่ มี ๒ ประการคือ        สื่อบุคคล กับสื่อที่ไม่ใช่บุคคล  ในด้านผู้รับสาร ผู้รับสารของท่าน เป็นผู้มีทักษะในการสื่อสาร มีทัศนติที่ดี มีความรู้ความสามารถ และอยู่ในสถานภาพทางสังคมและวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ มีตำแหน่งหน้าที่การงานทุกระดับชั้น ทำให้พระพรหมวชิรญาณได้มองเห็นถึงการเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่จะถ่ายทอดไปยังผู้รับสารที่แตกต่างกัน

ดาวน์โหลด

 

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕