หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » สมเกียรติ ไชยภูมิ
 
เข้าชม : ๒๐๐๐๒ ครั้ง
รูปแบบความสัมพันธ์อย่างยั่งยืนระหว่างผู้บริโภคกับผู้ผลิตตามแนวทางพระพุทธศาสนา
ชื่อผู้วิจัย : สมเกียรติ ไชยภูมิ ข้อมูลวันที่ : ๐๖/๐๒/๒๐๑๗
ปริญญา : พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหากฤษณะ ตรุโณ
  ประพันธ์ ศุภษร
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๙
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

 

วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์ ดังนี้ (๑) เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างผู้บริโภคกับผู้ผลิตในสังคมบริโภคนิยม (๒) เพื่อศึกษาหลักพุทธธรรมที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างผู้บริโภคกับผู้ผลิต และ (๓) นำเสนอรูปแบบความสัมพันธ์อย่างยั่งยืนระหว่างผู้บริโภคกับผู้ผลิตตามแนวทางพระพุทธศาสนา เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพที่เน้นการวิจัยทางเอกสาร โดยศึกษาจากพระไตรปิฎกเป็นหลัก จากเอกสารที่เกี่ยวข้อง และผลงานของท่านผู้รู้ในทางพระพุทธศาสนา นำมาวิเคราะห์จัดระบบเป็นหมวดหมู่ แล้วสรุปผลวิจัยนำเสนอในเชิงพรรณนา

ผลการวิจัยพบว่า

๑. ความสัมพันธ์ระหว่างผู้บริโภคกับผู้ผลิตในสังคมบริโภคนิยม จากการที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูงของภาคอุตสาหกรรมในการผลิตสินค้าคุณภาพมาตรฐานเดียวกันครั้งละมาก ๆ ที่เรียกว่า Mass Production ในสังคมอุตสาหกรรมได้กลายเป็นต้นแบบให้ภาคส่วนอื่น ๆ ในสังคมนำไปใช้ปฏิบัติตาม ไม่ว่าจะเป็น ระบบการศึกษาที่ส่งเสริมให้ผลิตนักเรียนออกมามีคุณภาพเดียวกันครั้งละมาก ๆ โดยใช้หลักสูตรเดียวกันทั้งประเทศโดยมีครูเป็นศูนย์กลาง หรือระบบสาธารณสุขที่กำหนดให้แพทย์เป็นศูนย์กลางมีอำนาจในการรักษาโรคได้แต่ผู้เดียวจนกระทั่งโรงพยาบาลเต็มไปด้วยผู้ป่วยมาเข้าคิวรอให้แพทย์รักษา จนงานล้นมือเกิดความผิดพลาดเป็นโรคหมอทำ เหล่านี้เป็นต้นเหตุสำคัญของปัญหาในสังคมบริโภคนิยม ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างผู้บริโภคกับผู้ผลิตในระบบสหกรณ์ ที่มีทั้งการพึ่งตนเองและช่วยเหลือเกื้อกูลในชุมชนซึ่งสอดคล้องกับ ความสัมพันธ์ระหว่างผู้บริโภคกับผู้ผลิตในระบบนิเวศในธรรมชาติที่มีความเกื้อกูลกันจนระบบโดยรวมมีความสมดุลและยั่งยืน

๒. หลักพุทธธรรมที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างผู้บริโภคกับผู้ผลิต ในงานวิจัยนี้ได้จำแนกไว้เป็น ๓ ระดับ คือ ๑) ระดับเบื้องต้นเป็นหลักธรรมระดับศีลธรรมจริยธรรมที่เกี่ยวข้องกับการทำคุณและตอบแทนคุณให้แก่กันและกัน ได้แก่ หลักทิศ ๖ และหลักกตัญญูกตเวที ๒) ระดับท่ามกลาง ได้แก่ หลักสัมมาอาชีวะที่เกี่ยวกับการประกอบการงานชอบไม่เบียดเบียนผู้อื่น และหลักธรรมที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและกลุ่มบุคคล ได้แก่ (๑) มิตตกถา ๗, (๒) สัปปุ-ริสธรรม ๗, (๓) สัปปายะ ๗, (๔) วัชชีอปริหานิยธรรม ๗, (๕) สังคหวัตถุ ๔ และ (๖) อิทธิบาท ๔, และ ๓) ระดับเบื้องสูง ได้แก่ ธรรมนิยาม หรือ กฎธรรมชาติ ประกอบด้วย (๑) ความสมดุล (๒) ความเป็นวัฏฏะ และ (๓) ความมีหน้าที่ต่อกัน หรือความเกื้อกูลกัน

๓. รูปแบบความสัมพันธ์อย่างยั่งยืนระหว่างผู้บริโภคกับผู้ผลิตตามแนวทางพระพุทธศาสนา ตั้งอยู่บนพื้นฐานของทฤษฎีสามสมดุล หรือทฤษฎีสมดุลผลิต สมดุลบริโภค และสมดุลผลประโยชน์ มีหลักการ คือ การกำหนดปริมาณการผลิตสมดุลกับปริมาณการบริโภค และผลประโยชน์หรือความมั่งคั่งที่เกิดจากการผลิตและการบริโภคนำมาแบ่งปันอย่างสมดุล และวิธีการ คือ การนำความมั่งคั่งของผู้ผลิตที่เกิดจากการทำธุรกิจกับผู้บริโภค ไปสะสมในผู้บริโภคโดยการเปลี่ยนงบประมาณทางการตลาดในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นงบโฆษณาประชาสัมพันธ์หรือส่งเสริมการขาย ลด แลก แจก แถม ไปเป็นงบประมาณเพื่อสร้างความมั่งคั่งในผู้บริโภคแล้วส่งเสริมให้ผู้บริโภคอุดหนุนผู้ผลิต โดยการใช้สินค้าของผู้ผลิตเป็นการตอบแทนตามหลักทิศ ๖ ทฤษฎีดังกล่าวสอดคล้องกับหลักธรรมในพระพุทธศาสนาทั้งเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด รวมทั้งสอดคล้องกับการตลาดเพื่อสังคมซึ่งได้แสดงตัวอย่างเป็นปรากฏการณ์ที่องค์กรผู้ผลิตได้จัดทำกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความมั่นคงและมั่งคั่งแก่ชุมชนผู้บริโภค และทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนระหว่างผู้บริโภคกับผู้ผลิตด้วย จึงสรุปได้ว่า ทฤษฎีสามสมดุลเป็นรูปแบบที่สามารถแก้ไขปัญหาความไม่สมดุลของการผลิตและการบริโภคในโลกปัจจุบัน ก่อให้เกิดการจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติและความมั่งคั่งอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม

ดาวน์โหลด

 

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕