หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » การุณ รักษาสุข
 
เข้าชม : ๑๙๙๙๔ ครั้ง
การตัดสินคดีความของกระบวนการยุติธรรมไทย กับกระบวนการทางพระวินัย
ชื่อผู้วิจัย : การุณ รักษาสุข ข้อมูลวันที่ : ๐๓/๐๒/๒๐๑๗
ปริญญา : พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระสุธีธรรมานุวัตร (เทียบ สิริญาโณ)
  ประพันธ์ ศุภษร
  วุฒินันท์ กันทะเตียน
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๘
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

                 วิทยานิพนธ์เล่มนี้ ได้ศึกษาถึงการตัดสินตามกระบวนการยุติธรรมของไทย กับ กระบวนการทางพระวินัย โดยมีวัตถุประสงค์ของการศึกษา ๒ ประการ คือ การตัดสินคดีความตามกระบวนการยุติธรรมของไทย และ การตัดสินคดีตามกระบวนการทางพระวินัย เป็นวิธีการวิจัยเชิงเอกสาร โดยได้ดำเนินการศึกษาเพื่อให้เกิดการสังเคราะห์องค์ความรู้ ของการตัดสินคดีความของกระบวนการยุติธรรมของไทย กับกระบวนการทางพระวินัย

                 ผลการวิจัย พบว่า กระบวนการยุติธรรมของไทย เป็นการอำนวยความยุติธรรมให้เกิดขึ้นแก่ประชาชนโดยทั่วไป ตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายวิธีพิจารณาความ โดยมีองค์การของรัฐซึ่งถูกกำหนดบทบาทและหน้าที่อย่างเป็นอิสระต่อกัน ตามหลักการแห่งการถ่วงดุลอำนาจ  ต่างเป็นผู้ดำเนินการเพื่อพิสูจน์ความผิดในศาล จนกระทั่งสามารถนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษตามพยานหลักฐานที่ปรากฏ โดยใช้หลักเกณฑ์ที่เป็นสากลประกอบการพิจารณา เช่น หลักการดำเนินคดีโดยรัฐ หลักค้นหาความจริงในเนื้อหา หลักฟังความทุกฝ่าย หลักวาจา หลักพยานโดยตรง หลักเปิดเผย หลักความเป็นอิสระ และ หลักประโยชน์แห่งความสงสัย เป็นต้น ส่วนคุณธรรมและจริยธรรมในการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรในองค์การจะถูกกำหนดไว้เป็นลายลักษณ์อักษร หากการปฏิบัติหน้าที่อยู่ในกรอบเหล่านั้นแล้ว ผลของการปฏิบัติจะเป็นเช่นไร กฎหมายจะให้ความคุ้มครองบุคลากรเหล่านั้น

                 กระบวนการตัดสินทางพระวินัยของพระพุทธศาสนาเถรวาท จะใช้บังคับเฉพาะในสังคมสงฆ์เพื่อให้เกิดความสันติสุข และเพื่ออำนวยให้การประพฤติปฏิบัติใน ศีล สมาธิ และปัญญา ปราศจากความรังเกียจระหว่างกันว่าเป็นผู้มีศีลไม่บริสุทธิ์ ซึ่งกระบวนการตัดสินความผิด พระวินัยจะบัญญัติให้สงฆ์เท่านั้นเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่และมีอำนาจสูงสุด ซึ่งจำนวนของภิกษุที่ประกอบกันเป็นสงฆ์จะแตกต่างกันไปตามประเภทของอธิกรณ์ คือ วิวาทาธิกรณ์ อนุวาทาธิกรณ์ อาปัตตาธิกรณ์ และ กิจจาธิกรณ์ โดยมีหลักเกณฑ์ประกอบการวินิจฉัยที่ประกอบด้วย ๑). องค์ประกอบของสงฆ์ ๒). วินัยหรือสิกขาบท และ ๓). เจตนาของผู้กระทำความผิด  จนกระทั่งปัจจุบัน ฝ่ายอาณาจักรได้ตราพระบัญญัติคณะสงฆ์ขึ้นบังคับ ใช้ในการลงนิคหกรรม แม้รูปแบบของการวินิจฉัยตัดสินของฝ่ายอาณาจักรจะเอื้อต่อพระวินัยให้สามารถบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่รูปแบบและวิธีการการลงนิคหกรรมของฝ่ายอาณาจักรยังมีความแตกต่างกับกระบวนการทางพระวินัย เช่น จำนวนภิกษุผู้พิจารณาชั้นต้นของฝ่ายอาณาจักรมีไม่ครบตามที่พระวินัยบัญญัติ ความหมายของสงฆ์ผู้ปฏิบัติหน้าที่ต้องเป็นภิกษุผู้มีอำนาจทางปกครองของคณะสงฆ์ ประเภทของการลงโทษภิกษุผู้กระทำความผิดอาจให้สึก หรือให้สละสมณเพศได้ และหากภิกษุนั้นไม่ยอมรับและไม่ปฏิบัติตามก็จะมีโทษทางอาญา

                 จากการสังเคราะห์กระบวนการตัดสินของทั้งสองกระบวนการแล้ว กระบวนการตัดสินของไทย กับกระบวนการตัดสินทางพระวินัยส่วนใหญ่ยังคงมีความสอดคล้องกันทั้งวิธีการและขั้นตอน ส่วนที่มีความแตกต่าง ว่าด้วยการลงนิคหกรรม แม้กฎมหาเถรสมาคมจะทำให้กระบวนการตัดสินทางพระวินัยมีประสิทธิภาพ แต่ก็อาจส่งผลกระทบต่อผลของอธิกรณ์ที่ระงับโดยชอบตามพระวินัย

ดาวน์โหลด

 

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕