หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » ทิพากาญจน์ ประภารัตน์
 
เข้าชม : ๒๐๐๐๕ ครั้ง
การศึกษาการใช้อนุสาสนีปาฏิหาริย์เพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระพุทธเจ้าในคัมภีร์พระพุทธศาสนา
ชื่อผู้วิจัย : ทิพากาญจน์ ประภารัตน์ ข้อมูลวันที่ : ๐๓/๐๒/๒๐๑๗
ปริญญา : พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระศรีคัมภีรญาณ
  บรรจบ บรรณรุจิ
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๘
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ ๑) เพื่อศึกษาอนุสาสนีปาฏิหาริย์ ๒) เพื่อศึกษาการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระพุทธเจ้าในคัมภีร์พระพุทธศาสนา ๓) เพื่อศึกษาวิเคราะห์อนุสาสนีปาฏิหาริย์เพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในคัมภีร์พระพุทธศาสนา

จากการวิจัยพบว่า อนุสาสนีปาฏิหาริย์ของพระพุทธเจ้าประกอบด้วยเหตุผล พระองค์มีพระมหากรุณาธิคุณปรารถนาให้พระสาวกประสบความสำเร็จในเป้าหมายสูงสุดของชีวิตจึงทรงตามพร่ำสอน ย้ำแล้วย้ำอีกให้มีสติสัมปชัญญะในอิริยาบถต่างๆ ให้ใช้เสนาสนะที่สะดวกสะบายต่อการปฏิบัติและเป็นอยู่อย่างไม่ประมาทให้ตรึกตรองแต่เรื่องที่เป็นกุศลธรรมให้พิจารณาเห็นไตรลักษณ์ให้บำเพ็ญมหาสติปัฏฐาน ๔ ตามความเหมาะสมกับจริต  พระพุทธเจ้าทรงยกย่องอนุสาสนีปาฏิหาริย์ว่ามีผลดีอย่างน่าอัศจรรย์  ทุกครั้งที่พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมจบลง ผู้ฟังจำนวนมากจะเกิดความรู้ตั้งแต่ระดับสัมมาทิฏฐิขึ้นไป จนถึงระดับโพธิญาณคนธรรมดากลายเป็นคนดีของสังคมและเป็นพระอริยบุคคล เช่น ถ้าผู้ฟังเป็นนักบวชก็จะสอนเรื่องละความยินดีในกามคุณเว้นการปฏิบัติผิด สอนให้ปฏิบัติตามมรรคมีองค์ ๘ ประการคือ  ให้เจริญสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ และสอนจบลงด้วยเรื่องเหตุผลตามหลักอริยสัจ ๔ คือ  ทุกข์  ทุกขสมุทัย ทุกขนิโรธ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ถ้าผู้ฟังเป็นฆราวาสก็จะเริ่มสอนเรื่อง     อนุปุพพิกถาก่อนมี ทานกถา สีลกถา สัคคกถา กามาทีนวกถา เนกขัมมานิสังสกถา ตามลำดับและจบลงด้วยอริยสัจ เนื่องจากพระองค์ทรงมีทศพลญาณจึงสามารถใช้อนุสาสนีปาฏิหาริย์ให้เหมาะสมกับจริตของสัตว์ทั้งหลายได้

หลักการและวิธีการเผยแผ่ที่เป็นสากล มีสาระที่เป็นประโยชน์ มีความสำคัญทั้งในด้านทฤษฎีที่เป็นเหตุเป็นผล และมีวิธีการที่เป็นสากลเหมาะสมกับทุกยุคทุกสมัย รวมทั้งมีข้อปฏิบัติที่ยึดทางสายกลาง สามารถนำมาประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับการดำเนินชีวิต เพื่อความสงบสุขและความเจริญของตนเองและสังคม การเผยแผ่นั้นเป็นการนำแบบอย่างของการดำรงชีวิตอันประเสริฐที่เรียกว่าพรหมจรรย์ ออกไปเผยแผ่แก่ประชาชนโดยมีเป้าหมาย คือ เพื่อประโยชน์เกื้อกูล            เพื่อความสุขทั้งแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เพื่ออนุเคราะห์แก่ชาวโลก  และการเผยแผ่จะประสบความสำเร็จได้ต้องประกอบด้วยองค์คุณของกัลยาณมิตร, หลักการสอนแก่เวไนยสัตว์ ประกอบด้วยนวังคสัตถุศาสตร์ทั้งหมดซึ่งแบ่งเป็นส่วนย่อยตามลักษณะที่เหมือนกันได้ ตามที่ปรากฏในคัมภีร์ หลักการเผยแผ่ประกอบด้วยนวังคสัตถุศาสตร์ดังกล่าวนี้มีจุดมุ่งหมายที่เนื้อหา เรื่องที่จะสอน มีตัวผู้รับหรือผู้ฟัง และวิธีการสอนอย่างครบถ้วน คือ ทรงสอนเพื่อให้ผู้ฟังรู้แจ้งเห็นจริงในสิ่งที่ควรรู้ควรเห็น หมายความว่า ทรงสอนให้รู้แจ้ง เห็นจริงเฉพาะเท่าที่จำเป็นสำหรับสาวกนั้นๆ สิ่งที่ทรงรู้แล้ว    แต่เห็นว่าไม่จำเป็นสำหรับผู้ฟัง หรือผู้รับการสอน ก็จะไม่สอนสิ่งนั้น ทรงสอนเพื่อให้ผู้ฟังเห็นจริงได้  ทรงแสดงธรรมอย่างมีเหตุผลที่ผู้ฟังพอตรองตามให้เห็น ด้วยตนเอง ทรงสอนเพื่อให้ผู้ฟังได้รับผลแห่งการปฏิบัติตามสมควร  ทรงแสดงธรรมมีคุณเป็นมหัศจรรย์ สามารถยังผู้ปฏิบัติตามให้ได้รับผลตามสมควรแก่กำลังแห่งการปฏิบัติของตน

วิทยาศาสตร์มีความเชื่อว่า สรรพสิ่งในจักรวาลล้วนดำเนินไปอย่างมีเหตุผล มีความเป็นระเบียบและมีกฎเกณฑ์ที่แน่นอน ส่วนพระพุทธศาสนาสอนว่าอย่าเชื่อเพียงเพราะเสียงเล่าลือเพราะอ้างตำรา เพราะนึกคิดเอาเอง เพราะอนุมาน เพราะคิดตรองตามแนวเหตุผล เพราะตรงกับทฤษฎีของตน เพราะรูปลักษณะน่าดูและอย่าเชื่อเพียงเพราะท่านเป็นครูอาจารย์ของเรา ด้วยเหตุนี้ ผู้รู้จึงให้หลักการสำคัญตามวิธีคิดแบบอริยสัจจ์คือ  ทุกข์ คือ สภาพปัญหา ความคับข้อง ติดขัด กดดัน บีบคั้น ที่ได้ประสบ หน้าที่ของเรามีเพียงกำหนดรู้ ทำความเข้าใจ และกำหนดขอบเขตให้ชัด สมุทัย คือเหตุเกิดแห่งทุกข์หรือสาเหตุของปัญหา หน้าที่ของเรา คือ กำจัด แก้ไข หรือละเสีย  นิโรธ คือ ความดับทุกข์ ความพ้นทุกข์ ภาวะไร้ทุกข์ ภาวะพ้นปัญหา หมดปัญหา เป็นจุดหมายที่ต้องการ หน้าที่ของเรา คือ ทำให้เป็นจริง ทำให้สำเร็จหรือบรรลุถึง  มรรค คือ ทางดับทุกข์ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์หรือวิธีแก้ไขปัญหา หน้าที่ของเรา ได้แก่การปฏิบัติหรือลงมือทำ ด้วยการกำหนดวิธีการ แผนการและรายการสิ่งที่จะต้องทำ ซึ่งจะช่วยให้แก้ไขสาเหตุของปัญหาได้สำเร็จ ซึ่งสอดคล้องกับจุดหมายที่ต้องการ สามารถในการแก้ปัญหาที่มีประโยชน์ต่อเด็กและตนเอง การบัญญัติพระวินัยของพระพุทธเจ้ามีเนื้อหาส่วนใหญ่จะเป็นการสอบสวน การพิสูจน์ทางกายกรรม และวจีกรรม เพราะการบัญญัติพระวินัยของพระพุทธเจ้ามีเนื้อหาครอบคลุมถึงเรื่องกายและ วาจา การวางกฎระเบียบทางพระพุทธศาสนาเกิดจากปัญญาธิคุณ พระมหากรุณาธิคุณของพระพุทธเจ้า ทรงวางไว้เพื่อให้สาวกของพระองค์ปฏิบัติตามกรอบ และมีผลเอื้อต่อการบรรลุมรรคผลนิพพานเป็นที่สุด ส่วนผู้ยังไม่บรรลุชาตินี้ก็จะมีอุปนิสัยสมบัติเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์และบรรลุมรรคผลนิพพานในอนาคตต่อไป

ดาวน์โหลด

 

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕